สืบเนื่องจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่ทวีความรุนแรง อันมีสาเหตุมาจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น นานาชาติตะหนักถึงความสำคัญ โดยได้จัดตั้งรัฐภาคีว่าด้วยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change - UNFCCC) ในปี พ.ศ. 2535 ซึ่งแม้ว่าประเทศไทยจะมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมหรือราวร้อยละ 1 ของโลก กระนั้นก็ตาม ประเทศไทยในฐานะสมาชิกรัฐภาคี ได้แสดงเจตจำนงการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ โดย กฟผ. เป็นส่วนหนึ่งของภาคพลังงาน ถือเป็นความรับผิดชอบ และพร้อมดำเนินตามเป้าหมายของประเทศ ในการร่วมมือกับประชาคมโลกต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน
สถานการณ์ก๊าซเรือนกระจกของโลก
ปัจจุบันอุณภูมิของโลกได้เพิ่มสูงขึ้น จากปี คศ. 1880 ประมาณ 0.85 องศาเซลเซียส และมีปริมาณความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลกประมาณอยู่ที่ประมาณ 401 PPM (อ้างอิงจากรายงาน AR 5 ของ IPCC 2014) ซึ่งจากการศึกษาพบว่าหากสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุณหภูมิของโลกจะเพิ่งสูงขึ้นจนไม่สามารถหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงได้ และจะเกิดผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ (ประมาณการณ์ว่าความเข้มข้นของประมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ จะมีความเข้มข้นประมาณ 478 ppm) ทำให้ทุกประเทศต้องร่วมกันในการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศตัวเอง โดยในปัจจุบัน ประเทศที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในโลกสามารถแสดงได้ตาม กราฟด้านล่าง
กราฟ ที่ 1 อันดับประเทศที่มีการปล่อย ก๊าซ CO2 สูงสุด 40 อันดับ แรกของโลก ในปี 2013
ภาพที่ 1 อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ ในปี 2009
ที่มา : https://www.theguardian.com/news/datablog/2011/jan/31/world-carbon-dioxide-emissions-country-data-co2
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากข้อมูล ในปี 2013 และ2009 จะพบว่าประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 20 และ 23 ของโลกโดยมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประมาณ 0.9% – 1 % จากปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศโลกในปี 2013 เท่านั้น
ก๊าซเรือนกระจกกับประเทศไทย
สำหรับข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย อ้างอิงจากรายงานความก้าวหน้าราย 2 ปี ฉบับที่1 ของประเทศไทย (Thailand Biennial Update Repot 2011) ที่รายงานต่อ UNFCCC ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2558 พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประมาณ 305.52 MtCO2e (ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) โดยมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมในภาคการผลิตไฟฟ้าประมาณ 86.87 MtCO2e หรือประมาณ 39% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย สำหรับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน 2011 ประมาณ 48 ล้านตันหรือคิดเป็น 15.6% (แสดงในกราฟ ที่ 2 และ 3)
กราฟที่ 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ปี 2011
กราฟที่ 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของในภาคพลังงานของประทศไทย ปี 2011
ในปีคศ. 2014 ประเทศไทยโดยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในขณะนั้น พล.อดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ได้เป็นผู้แทนประเทศแสดงเจตจำนงการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของของประเทศไทย (Thailand Nationally Appropriate mitigation Action: Thailand NAMA) โดยแถลงว่าประเทศไทยจะดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน (Energy Sector) ลงให้ได้ 7-20% เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานตามปกติ หรือ BAU (Business as Usual) ในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) หรือประมาณ 24-73 MtCO2e (แนบ NAMA) ซึ่ง กฟผ. เองเป็นหน่วยงานที่อยู่ในภาคพลังงานดังกล่าว
ภาพที่ 2 ถ้อยแถลง NAMA ของประเทศไทยในการประชุม COP 20
ต่อมาในปี 2015 พณฯท่าน พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ถ้อยแถลงเจตจำนงการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยภายหลังปี 2020 หรือ การลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมุ่งมั่นของประเทศ (Intended Nationally Determined Contributions: INDCs) โดยประเทศไทยจะดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน (Economy Wide) ร้อยละ 20-25 ประมาณ 110-140 tCO2e ในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573)
ภาพที่ 3 ถ้อยแถลง INDC ของประเทศไทยในการประชุม COP 21
โดยในการแสดงเจตจำนงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ ประเทศไทย ทั้งในช่วง NAMA และ INDC นั้น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ประเมินศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยอาศัยทั้ง การประมาณการเจริญเติบโตของ GDP ของประเทศ แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2010 และ PDP2015) เข้าผนวกรวมอยู่ในการคิดคำนวนแล้วทั้งสิ้น ดังจะเห็นได้จากหนังสือนำส่ง INDC ของประเทศไทยที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมส่งถึง เลขาธิการ อนุสัญญาสหประชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change: UNFCC)
ภาพที่ 4 หนังสือ แสดงเจตจำนง INDC ของประเทศไทย
กฟผ.กับการรับมือ
สืบเนื่องจาก NAMA และ INDC ของประเทศ ได้นำเอาแผน PDP ของ กฟผ. ผนวกรวมไว้เป็นหนึ่งในแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศอยู่แล้ว ดังนั้นหาก กฟผ. สามารถดำเนินการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าได้ตามแผน PDP ดังกล่าว ก็ถือเป็นการช่วยให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกได้เช่นกัน สำหรับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของ กฟผ. นั้น ได้กำหนดไว้ในแผนวิสาหกิจ โดยกำหนดเป้าหมายหลัก ในปี 2563 ที่จะต้องดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 4 ล้าน tCO2e
ตารางแสดง ค่าคาดการณ์ปริมาณ CO2 ที่ลดได้จากการดำเนินงานของ กฟผ. ปี 2559-2569
นอกจากนั้นแล้ว กฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความมุ่งมั่นและห่วงใย ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม จึงได้กำหนดเป็นนโยบายในการพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ของ กฟผ. ให้นำโรงไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูง (Best Available Technology) มาใช้เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับก๊าซเรือนกระจกนั้น จะใช้การเปรียบเทียบโดยใช้ค่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้า หรือเรียกกันว่า Carbon Intensity ( gCO2/kWh หรือ tCO2/mWh)
ในปัจจุบัน พบว่าค่าเฉลี่ย Carbon intensity จากการผลิตไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงชนิดต่างๆ จากของโรงไฟฟ้าทั่วโลกมีค่าสูงกว่าค่า Carbon intensity จากการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าใหม่ของ กฟผ.ทั้งสิ้น
ตารางแสดง ค่า Carbon Intensity ในการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ
ที่มา : http://www.world-nuclear.org/nuclear-basics/greenhouse-gas-emissions-avoided.aspx
ทั้งนี้ หากอ้างอิ้งจากรายงาน Energy, Climate Change and Environment: 2016 Insights ที่แสดงค่า Carbon Intensity จากการผลิตไฟฟ้าแยกตามเทคโนโลยีจะพบว่า
นอกจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงแล้ว ในการเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตาม NAMA และ INDC กฟผ. ยังได้ดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านทางมาตรการต่างๆ
อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน กฟผ. ได้รับการรับรองปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2556 และปี 2557 จาก สผ. และกระทรวงพลังงานแล้ว
จากผลการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกดังกล่าวของ กฟผ. ทั้งมาตรการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า ได้มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยในปี 2557 สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้เกินกว่าที่ประเทศได้แถลงไว้ใน NAMA ถึงประมาณ 13 ล้าน tCO2e
ที่มา : องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
นอกจากการดำเนินการมาตรการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับ แผน NAMA และ INDC ของประเทศไทยแล้ว กฟผ. ยังคงดำเนินการในรูปแบบ Project Base อาทิเช่น โครงการ CDM, โครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานไทย (T-VER) โครงการ Carbon Footprint และโครงการปลูกป่า เป็นต้น
ทั้งนี้ การพัฒนาและติดตามโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ซึ่งเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าของ กฟผ.นั้นคิดเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการดำเนินโครงการประมาณ 500,000 tCO2e และ กฟผ. สามารถขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 10-11 ให้กับผู้ซื้อต่างประเทศ สามารถนำรายได้เข้าสู่ กฟผ. ได้ถึงปีละประมาณ 5,000,000 บาท
ตารางแสดง รายชื่อโครงการ CDM ของ กฟผ. ในปัจจุบัน
สำหรับโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ซึ่งเป็นโครงการการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยปัจจุบันมีโครงการที่ขึ้นทะเบียนแล้วรวมทั้งสิ้น 3 และอยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนอีก 3 โครงการเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการดำเนินโครงการประมาณ 25,000 tCO2e และขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่างภายในสถานีไฟฟ้าแรงสูง กฟผ. เข้าเป็นโครงการ T-VERs อีกโครงการหนึ่ง
ตารางแสดง รายชื่อโครงการ T-VER ของ กฟผ. ในปัจจุบัน
นอกจากนั้นแล้ว ในปี 2559 กฟผ. ได้ดำเนินการการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คำนวณจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแนวทางการประเมินของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) เป็นรายปี และดำเนินการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) และ ISO 14064-1 ของสำนักงานใหญ่ กฟผ. เหมืองแม่เมาะ ศูนย์ซ่อมและผลิตอะไหล่โรงไฟฟ้า (สำนักงานหนองจอก) และโรงไฟฟ้า 8 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าจะนะ โรงไฟฟ้ากระบี่ โรงไฟฟ้าวังน้อย โรงไฟฟ้าน้ำพอง โรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าแม่เมาะ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ เพื่อขอรับการทวนสอบตามมาตรฐาน เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสขององค์การและใช้สำหรับเป็นฐานในการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมทุกหน่วยการดำเนินงานของ กฟผ. และเป็นฐานข้อมูล รองรับการทวนสอบจากหน่วยงานภายนอกได้เป็นอย่างดี
ไม่เพียงแต่การดำเนินงานตามแผน NAMA INDC การดำเนินงานตาม Project Base แล้ว กฟผ. ยังได้เตรียมความพร้อมขององค์การเพื่อเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ดังต่อไปนี้
1. จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของ กฟผ. เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกขององค์การ ตอบสนองนโยบายประเทศและการพัฒนาเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ รวมทั้งเตรียมความพร้อมสู่การดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว
2. ลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOC) กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ในการพัฒนาแนวทางการคำนวณและประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกตามศักยภาพขององค์การโดยใช้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2558 – 2579 (PDP 2015) เป็นหลักและโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรการต่างๆ ที่สอดคล้องกับแผน NAMAs และ INDCs รวมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและมีนัยสำคัญในระดับประเทศ
3. จัดทำบัญชีและฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของ กฟผ. เพื่อแสดงข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ กฟผ. รายปี สามารถเรียกดูข้อมูลได้จาก http://10.20.8.84/inventory/
4. กฟผ. ให้การสนับสนุนและร่วมมือกับโรงเรียนเครือข่ายทั่วประเทศในการดำเนินโครงการโรงเรียนคาร์บอนต่ำและโครงการรณรงค์เปลี่ยนหลอดประหยัดไฟเบอร์ 5 จนได้รับการรับรองในโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Supporting Scheme: LESS)
การจากดำเนินการที่เป็นรูปธรรมและเข้มแข็งของ กฟผ. ทำให้ในวันนี้ กฟผ. สามารถเป็นผู้แทนของภาคผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม COP22 ณ เมืองมาร์ราเกช ประเทศโมร็อกโก ได้อย่างน่าภาคภูมิใจ กฟผ. ได้นำเอาความสำเร็จของการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการต่างๆ (Mitigation) รวมถึงการดำเนินการเพื่อเตรียมองค์การเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำไปนำเสนอในเวทีโลก เพื่อเป็นเครื่องยืนยันอย่างหนักแน่นว่า กฟผ. เป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกที่ผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบให้คนไทยได้อย่างมั่นคง ควบคู่กับการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อความสุขของคนไทยทุกคน
ที่มา
https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1746:article-20161114-01&catid=49&Itemid=251
Link: คลิ๊กที่นี่