ข้อบกพร่องในการใช้ภาษาไทย
เว็บมาสเตอร์ |
ข้อบกพร่องในการใช้ภาษาไทย
การพูดหรือการเขียนที่ใช้ภาษาบกพร่อง มีผลทำให้การสื่อสารไม่สัมฤทธิ์ผลได้ ซึ่งมีผู้สรุปว่า การใช้ภาษาบกพร่องเกิดจากสาเหตุ 4 ประการ คือ (1) การใช้ภาษาผิด ประกอบด้วย การใช้สำนวนผิดความหมาย การเรียงคำหรือกลุ่มคำผิด การใช้ประโยคไม่สมบูรณ์ (2) การใช้ภาษาไม่กระจ่าง ประกอบด้วย การใช้ไม่ชัดเจน การแสดงความคิดไม่สอดคล้อง การใช้ประโยคกำกวม (3) การใช้ภาษาไม่เหมาะสม ประกอบด้วย การใช้ภาษาพูดในภาษาเขียน การใช้คำต่างระดับ การใช้คำไม่เหมาะสม แก่ความรู้สึก การใช้คำไม่เหมาะสมแก่โวหาร (4) การใช้ภาษาไม่สละสลวย ประกอบด้วย การใช้ภาษาฟุ่มเฟือย การเรียงลำดับความ ไม่เหมาะสม การใช้ประโยคที่มีลักษณะไม่เป็นภาษาไทย จากสาเหตุที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทำให้การสื่อสารไม่บรรลุประสิทธิผลต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการเขียน ดังนั้นเราจึงควรใช้ภาษาให้ถูกต้องชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการสื่อสาร โดย การใช้ภาษาให้ถูกต้อง การใช้ภาษาให้กระจ่าง การใช้ภาษาให้เหมาะสม และการใช้ภาษาให้สละสลวย เมื่อเราทำได้เช่นที่กล่าวมาก็ไม่เกิดปัญหาการใช้ภาษาบกพร่อง การใช้ภาษาผิด การใช้ภาษาผิด หมายถึง การใช้ภาษาผิดหลักไวยากรณ์ หรือผิดความหมายที่สังคมกำหนดไว้ การใช้ภาษาผิดที่ทั้งระดับ กลุ่มคำ และประโยคดังต่อไปนี้ (1) การใช้คำผิดความหมาย คือการนำคำที่มีความหมายอย่างหนึ่งไปใช้อีกความหมายหนึ่งซึ่งแตกต่างไปจากการยอมรับเดิม เช่น Øนักศึกษามักจะขัดขืนคำสั่งอาจารย์ Øขอยืมรถของคุณหมอหน่อยเถอะ ดิฉันมีธุระด่วนจริงๆ (2) การใช้คำผิดหลักไวยากรณ์ คือ การใช้คำบุพบท คำสันธาน หรือคำลักษณะนามผิดจากหลักไวยากรณ์ เช่น Øประชาชนบริจาคเงินกับเด็กกำพร้าเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ Øเขาเป็นคนสุภาพแต่สำรวมตนเสมอเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ใหญ่ Øโบราณที่สำคัญทุกชิ้นในประเทศไทยควรได้รับการดูแล (3) การใช้กลุ่มคำ หรือสำนวนผิด หรือการใช้กลุ่มคำหรือสำนวนในความหมายที่ผิดไปจากข้อความกำหนดของสังคม เช่น Øคู่บ่าวสาวสมกันราวกับกิ่งทองใบตำแย Øมารศรีกับธงชัยรักกันดูดดื่มเข้ากระดูกดำ (4) การเรียงคำหรือกลุ่มคำผิดลำดับ คือการเรียงไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ เช่น Øฝนตกหนักจนทางข้างหน้ามองไม่เห็น (ฝนตกหนักจนมองไม่เห็นทางข้างหน้า) Øคนแก่ชอบไปถือศีลฟังธรรมที่วัดจำนวนมาก (คนแก่จำนวนมากชอบไปถือศีลฟังธรรมที่วัด) (5) ประโยคไม่สมบูรณ์ คือการใช้ประโยคที่ขาดส่วนสำคัญของประโยคหรือขาดคำบางคำไปทำให้ความหมายของประโยคไม่ครบถ้วน เช่น Øเขาเป็นนักสู้ที่เคยร่วมต่อสู้ประชาธิปไตยในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ Øนักศึกษาที่ตั้งใจเรียน ขยันขันแข็ง และเชื่อฟังคำสั่งสอนของครูอาจารย์ การใช้ภาษาไม่เหมาะสม การใช้ภาษาไม่เหมาะสม หมายถึง การใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ บุคคลและการใช้ถ้อยคำผิดระดับภาษาดังนี้ (1) การใช้ภาษาพูดในภาษาเขียน คือ การนำภาษระดับภาษาปาก หรือภาษาพูดมาให้ในภาษาเขียน เช่น Øนางสาวไทยปีนี้มีน้ำหนักประมาณ 50 กิโล Øจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายดูเหมือนจะแย่ลง (2) การใช้ภาษาไม่เหมาะสมกับความรู้สึก คือ การเลือกใช้คำที่มีสื่อความหมาย ไม่ตรงกับความรู้สึกของผู้พูด เช่น Øฉันดีใจที่ต้องแสดงละครเวทีต่อหน้าที่ประชุม Øวันนี้การจราจรติดขัดมาก เราคาดหวังกันว่าเราคงไปเรียนไม่ทันเวลา (3)การใช้คำต่างระดับ คือ การนำคำที่อยู่ในระดับภาษาต่างกันมาใช้ในประโยคเดียวกัน เช่น Øเมื่อข้าพเจ้าดูหนังจบ ก็ออกจากโรงภาพยนตร์ Øไม่มีความรักใดในโลกจะยิ่งใหญ่กว่าความรักของมารดาที่มีต่อลูก (4) การใช้ภาษาต่างประเทศปะปนในภาษาไทย คือ การนำคำยืมจากภาษาอังกฤษแบบ “ทับศัพท์” มาใช้ปะปนในภาษาไทยโดยไม่จำเป็น เช่น Øบริษัทของเรามีโปรเจคใหม่ๆ ไว้เสนอลูกค้า Øฉันชอบนั่งรถเมล์แอร์คอนดิชั่นมากกว่ารถธรรมดา การใช้ภาษาไม่กระจ่าง ไม่ชัดเจน การใช้ภาษาไม่กระจ่าง ไม่ชัดเจน หมายถึง การใช้ภาษาที่ไม่สามารถสื่อความหมายที่ผู้ใช้ต้องการได้ การใช้ภาษาไม่กระจ่างอาจเกิดจากการใช้คำที่มีความหมายกว้าง การใช้คำที่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจง การใช้คำที่มีความหมายขัดแย้งกัน หรือการใช้ประโยคที่ทำความเข้าใจได้หลายอย่าง ดังนี้ (1) การใช้คำที่มีความหมายกว้าง คือ การใช้คำที่มีความหมายไม่แน่นอน ความหมายของคำที่ใช้จะอยู่กับคิดเห็นและความรู้สึกของแต่ละคน เช่น Øผมต้องการแต่งงานกับผู้หญิงดีๆสักคน Øเขาถูกไล่ออกเพราะไม่ซื่อสัตย์ (2) การใช้คำที่มีความหมายขัดแย้งกัน คือ การใช้คำที่ทำให้ผู้สารสับสนผู้พูดต้องการสื่อความหมายอย่างไร เช่น Øการเดินทางไปเกาะเสม็ดไม่ลำบากนัก เรียกว่าตกทุกข์ได้ยากทีเดียว Øการเป็นมหาเศรษฐีของโลกนั้นเป็นไปได้ยาก แต่หากจะเป็นก็ง่ายนิดเดียว (3) ประโยคกำกวม คือ การใช้ประโยคที่สามารถตีความได้หลายอย่าง ทำให้สื่อสารแล้วเข้าใจไม่ตรงกัน เช่น Øก่อนชำระเงินทำไมไม่ดูให้ดี ผ้าขาดไปตั้งเยอะ Øแม่เลี้ยงเธอดี การใช้ภาษาไมสละสลวย การใช้ภาษาไม่สละสลวย หมายถึง การใช้ภาษาที่สามารถสื่อสารกันได้ แต่อาจเป็นภาษาที่ไม่ราบรื่นนัก ดังนี้ (1) การใช้คำฟุ่มเฟือย คือ การใช้คำที่ไม่มีความหมายต่อประโยค สามารถ ตัดทิ้งได้ หรือ การใช้คำที่มีความหมายซ้ำซ้อนกันอยู่ เช่น Øสมพงษ์เป็นคนเดียวที่ไม่ตายรอดชีวิตมาได้ Øข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้มาทำการต้อนรับคณะของท่านในวันนี้ (2) การใช้คำที่ไม่คงที่ คือ การเปลี่ยนแปลงการใช้คำ คำเดียวกันในประโยค โดยไม่จำเป็น เช่น Øเราต้องรักษาแผ่นดินไทยมิเช่นนั้น จะไม่มีผืนแผ่นดินอยู่อีกต่อไป Øเมื่อวานนี้ไปเยี่ยมคนเจ็บที่โรงพยาบาล พบว่าคนไข้มีอาการดีขึ้นมากแล้ว (3) การลำดับความไม่เหมาะสม คือ การเรียงข้อความในประโยคไม่เป็นลำดับ เช่น Øมนุษย์เราต้องเรียนรู้ที่จะทำประโยชน์ให้แก่ครอบครัว ตนเอง และสังคม Øคนประมาทในการใช้รถใช้ถนนทำให้ผู้คนล้มตายบาดเจ็บลงเป็นจำนวนมาก (4) การใช้สำนวนภาษาต่างประเทศ คือ การใช้ประโยคภาษาไทย ที่เลียนแบบวิธีการเรียบเรียงประโยคตามสำนวนภาษาต่างประเทศ เช่น Øภาษาไทยเป็นภาษาที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ Øสามตำรวจร่วมจับโจรปล้นร้านทองย่านเยาวราช Cr เจอข้อความใน https://www.google.co.th
Link: คลิ๊กที่นี่ |
แสดงความคิดเห็น