รู้ยัง? เงินเดือนเท่าไหร่ถึงเสียภาษี
24 เมษายน 2561ดร.ยุทธนา อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
ถ้าคุณมีรายได้จากงานประจำเพียงทางเดียว
- ถ้าเงินเดือนไม่เกิน ฿10,000 = ไม่ต้องยื่นภาษี
- ถ้าเงินเดือนไม่เกิน ฿26,583.33 = ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี
- ถ้าเงินเดือนเกิน ฿26,583.33 = ต้องยื่นภาษี และต้องเสียภาษีด้วย
- ถ้าไม่ได้จ่ายประกันสังคมและเงินเดือนไม่เกิน ฿25,833.33 = ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี
- ถ้าไม่ได้จ่ายประกันสังคมและเงินเดือนเกิน ฿25,833.33 = ต้องยื่นภาษี และต้องเสียภาษีด้วย
รู้ไว้ไม่เสียหาย โครงสร้างภาษีปี 2561 มีผลกับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเฉพาะหน้าที่ของผู้มีรายได้จากงานประจำ (เงินได้ประเภทที่ 1) ในการ "ยื่นภาษี" และ "เสียภาษี" ยังไงบ้าง ทำไมรายได้เท่านี้ถึงไม่ต้องเสียภาษีเราไปดูกัน
โครงสร้างเบื้องต้น
การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะคำนวณจาก เงินได้สุทธิ ซึ่งมีสูตรคำนวณเบื้องต้นคือ
เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
ทั้งนี้ หากเงินได้สุทธิไม่เกิน ฿150,000 จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
โครงสร้างภาษี 2561 ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง?
ค่าลดหย่อนส่วนตัว
โครงสร้างภาษีตอนนี้ให้สิทธิ์ ค่าลดหย่อนส่วนตัว คนละ ฿60,000
สิทธิหักค่าใช้จ่าย
โครงสร้างภาษีตอนนี้ให้สิทธิหัก ค่าใช้จ่าย ของรายได้จากงานประจำ (เงินได้ประเภทที่ 1) ได้ 50% แต่ไม่เกิน ฿100,000
หน้าที่ยื่นภาษี
สำหรับใครที่มีรายได้จากงานประจำเพียงทางเดียว กฎหมายกำหนดว่า ผู้ที่มีรายได้จากงานประจำตลอดทั้งปี ไม่เกิน ฿120,000 (หรือเฉลี่ยเดือนละไม่เกิน ฿10,000) ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นภาษี
หน้าที่ยื่นภาษีคือหน้าที่ที่ต้องแสดงรายการภาษีว่ามีรายได้ ค่าภาษีและสิทธิลดหย่อนอย่างไรบ้าง ซึ่งโดยปกติผู้ที่ทำงานประจำจะมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีประจำปี ปีละ 1 ครั้ง ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. ของทุกปี
ทำไมเงินเดือนไม่เกิน ฿10,000 ไม่ต้องยื่นภาษี?
ที่กฎหมายใหม่กำหนดว่าเงินเดือนไม่เกิน ฿10,000 หรือรวมทั้งปีไม่เกิน ฿120,000 ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีนั้น ไม่ใช่ตัวเลขที่กำหนดขึ้นมาเฉยๆ แต่มีที่มาที่ไปดังนี้
ถ้าเราได้รับเงินเดือนรวมตลอดทั้งปี ฿120,000 (หรือเฉลี่ยเดือนละ ฿10,000) เราจะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินเดือนที่เราได้รับ นั่นคือ ฿60,000 และเมื่อเราเป็นผู้มีเงินได้ กฎหมายจึงมอบค่าลดหย่อนส่วนตัวให้ ฿60,000 อยู่แล้วทุกคน ดังนั้น จึงสรุปเป็นสูตรการคำนวณเงินได้สุทธิได้ว่า
เงินได้ ฿120,000 - ค่าใช้จ่าย ฿60,000 - ค่าลดหย่อน ฿60,000 = เงินได้สุทธิ ฿0
ดังนั้น เมื่อมี เงินได้สุทธิ ฿0 อยู่แล้ว จึงไม่มีค่าภาษีต้องเสียเพิ่มอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ โครงสร้างภาษีใหม่จึงกำหนดว่าผู้ที่มีรายได้จากงานประจำตลอดทั้งปีไม่เกิน ฿120,000 หรือเฉลี่ยเดือนละไม่เกิน ฿10,000 ไม่มีหน้าที่ต้อง ยื่นภาษี
หน้าที่เสียภาษี
ตอนนี้โครงสร้างภาษีทำให้ผู้ที่ทีรายได้จากงานประจำสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินเดือนที่ได้รับตลอดทั้งปีแต่ไม่เกิน ฿100,000 และให้ค่าลดหย่อนส่วนตัว ฿60,000 ด้วย แต่ค่าลดหย่อนจาก เงินสะสมกองทุนประกันสังคม ยังคงอยู่ที่เพดานสูงสุด ฿9,000 เท่าเดิม
ดังนั้น หากมีเงินเดือนเฉลี่ยเดือนละ ฿26,583.33 จะคำนวณเงินได้ตลอดทั้งปีได้ ฿319,000 (เงินเดือน ฿26,583.33 x 12 เดือน) โดยเราจะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินเดือนที่เราได้รับ ซึ่งควรจะเป็น ฿159,500 แต่เนื่องจากโครงสร้างภาษีปัจจุบันจำกัดสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน ฿100,000 จึงทำให้เราสามารถหักค่าใช้จ่ายจากเงินเดือนได้สูงสุดที่ ฿100,000
และเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนส่วนตัว ฿60,000 และเงินสะสมกองทุนประกันสังคมที่เราถูกนายจ้างหักไปตอนรับเงินเดือนด้วยอีกเดือนละ ฿750 หรือรวมทั้งปีเป็นเงิน ฿9,000 จึงทำให้เราสามารถสรุปเป็นสูตรการคำนวณเงินได้สุทธิได้ว่า
เงินได้ ฿319,000 - ค่าใช้จ่าย ฿100,000 - ค่าลดหย่อน (฿60,000+฿9,000) = เงินได้สุทธิ ฿150,000
ดังนั้น เมื่อมีเงินได้สุทธิไม่เกิน ฿150,000 แม้จะยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีตามปกติ แต่เราจึงไม่มีภาระภาษีต้องจ่ายแต่อย่างใด
หากคุณเป็นหนึ่งคนที่มีรายได้และต้องยื่นภาษีประจำปี แต่ยังไม่แน่ใจว่า รายได้ประจำปีของคุณต้องเสียภาษีหรือไม่ คุณสามารถคำนวณภาษีกับ iTAX ก่อนได้ หรือหากคุณมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี และต้องการตัวช่วยลดหย่อนภาษี สามารถมองหาตัวช่วยดีๆได้ที่ iTAX Market รับรองว่า เราสามารถช่วยให้คุณจ่ายภาษีได้ถูกลงแน่นอน!!
สรุป
ถ้าคุณมีรายได้จากงานประจำเพียงทางเดียว
- ถ้าเงินเดือนไม่เกิน ฿10,000 = ไม่ต้องยื่นภาษี
- ถ้าเงินเดือนไม่เกิน ฿26,583.33 = ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี
- ถ้าเงินเดือนเกิน ฿26,583.33 = ต้องยื่นภาษี และต้องเสียภาษีด้วย
เงินเดือนของคุณปีนี้ต้องเสียภาษีเท่าไหร่?
ใช้ iTAX คำนวณภาษีให้ไวกว่าคำนวณเองเยอะ
**************************************************
เช็คเร็ว ! เงินเดือนเท่านี้ เสียภาษีเท่าไหร่ หลังมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอัตรา ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2560
จากกรณีที่ กรมสรรพากร เสนอแนวทางการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2560 โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายเพิ่มได้ถึง 100,000 บาท และเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีเงินเดือนไม่ถึง 26,000 บาท/เดือน ไม่ต้องเสียภาษี ทำเอาหลาย ๆ คน นั่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่กันเลยทีเดียว
หลายคนอาจจะยังสงสัยว่า ภาษี คืออะไร ?
ภาษี คือ สิ่งที่รัฐบาลบังคับเก็บจากราษฏร เพื่อใช้เป็นประโยชน์ส่วนรวม โดยไม่ได้มีสิ่งตอบแทนโดยตรงแก่ผู้เสียภาษีอากร หรืออีกนัยหนึ่งคือ เงินที่ได้จากเอกชนไปสู่รัฐบาล โดยการเก็บภาษีมีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้ให้พอใช้กับค่าใช้จ่ายของรัฐบาล เพื่อกระจายรายได้ เพื่อควบคุมการบริโภคของประชาชน เพื่อชำระหนี้สินของรัฐบาล หรือสนองนโยบาลทางธุรกิจในอนาคต
ซึ่งผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมา โดยมีสถานะ อย่างหนึ่งอย่างใด เช่น บุคคลธรรมดา , ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล , ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี , กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง และ วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
การปรับโครงสร้างของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2560 มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง ?
– สำหรับผู้มีเงินได้ส่วนบุคคลจากเดิม 30,000 บาท เพิ่มเป็น 60,000 บาท / ปี
– สำหรับคู่สมรสจากเดิม 30,000 บาท เพิ่มเป็น 60,000 บาท
– สำหรับค่าลดหย่อนจากการมีบุตร จากเดิมลดหย่อนบุตรคนละ 15,000 บาท ไม่เกิน 3 คน เพิ่มเป็นหักลดหย่อนได้ 30,000 บาท ซึ่งไม่จำกัดจำนวนบุตร อีกทั้งยังยกเลิกค่าลดหย่อนการศึกษาบุตรด้วย
– สำหรับคู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 120,000 บาท
– สำหรับกองมรดก จากเดิม 30,000 บาท ปรับเป็น 60,000 บาท
– สำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล จากเดิมหุ้นส่วนคนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท ปรับเป็นให้หักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท
โครงสร้างการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ?
– สำหรับผู้ที่รายได้ไม่ถึง 150,000 บาท / ปี จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษี
– สำหรับผู้ที่มีรายได้ 150,001 – 300,000 บาท / ปี จะต้องเสียภาษี 5%
– สำหรับผู้ที่มีรายได้ 300,0001 – 500,000 บาท / ปี จะต้องเสียภาษี 10%
– สำหรับผู้ที่มีรายได้ 500,001 – 750,000 บาท / ปี จะต้องเสียภาษี 15%
– สำหรับผู้ที่มีรายได้ 750,001 – 1,000,000 บาท / ปี จะต้องเสียภาษี 20%
– สำหรับผู้ที่มีรายได้ 1,000,001 – 2,000,000 บาท / ปี จะต้องเสียภาษี 25%
– สำหรับผู้ที่มีรายได้ 2,000,001 – 5,000,000 บาท / ปี จะต้องเสียภาษี 30%
– สำหรับผู้ที่มีรายได้ 5,000,001 บาทขึ้นไป / ปี จะต้องเสียภาษี 35%
ตารางคำนวณแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2560
ที่มา : moneyhub
Link: คลิ๊กที่นี่