ฉันหมดไฟก่อนได้เติบโต : ข้อเสนอปรับระบบราชการเพื่อคนรุ่นใหม่
อาชีพรับราชการคือความฝันของใครหลายคน แน่นอนว่า การทำงานในระบบมีข้อดีมากมาย ทั้งความมั่นคงและสวัสดิการที่ช่วยเหลือยามเจ็บป่วย ตลอดจนการทำงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมจริงๆ
แม้ว่าระบบราชการของบ้านเราจะเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ มีหลายหน่วยงานสามารถปรับตัวเข้ากับความต้องการของประชาชนได้มากขึ้น แต่ที่ผ่านมาก็มีคำถามอยู่เสมอๆ ว่าวัฒนธรรมและระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ของระบบราชการนั้น ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจทำงานจริงๆ ได้เติบโตมากน้อยแค่ไหน
เราชวน 2 นักรัฐศาสตร์ รศ.ตระกูล มีชัย จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และ ผศ.ดร.อรทัย ก๊กผล จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งศึกษาความเปลี่ยนแปลงของระบบราชการไทยมาอย่างต่อเนื่อง ชวนคุยกันว่า ตกลงแล้วปัญหาวัฒนธรรมในระบบราชการไทยมีหน้าตาแบบไหน และถ้ามันเป็นปัญหาจริงๆ เราจะเดินออกจากเรื่องที่ว่านี้กันอย่างไร
การงานไม่ก้าวหน้า ถ้าไม่เข้าหานาย?
อาจารย์ ตระกูล เปิดประเด็นด้วยเรื่องแรงๆ ว่า ทุกวันนี้ ข้าราชการไทยจำนวนมาก รู้สึกหมดไฟในการทำงาน เพราะมองแทบไม่เห็นความก้าวหน้าของตัวเอง ที่สำคัญคือ ท้อกับระบบที่เปิดช่องให้ผู้ใหญ่ในหน่วยงาน มักแต่งตั้งหรือเลือกคนใกล้ชิดของตัวเองเป็นหลัก แต่ไม่ได้วัดที่ผลงานกันจริงๆ
“คนดีที่ตั้งใจทำงาน เขาถอยกันหมด เพราะทำดีแทบเป็นแทบตาย แต่ก็ได้ตำแหน่งที่ไม่สูงขึ้นอยู่ดี สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนในระบบราชการมักถูกแต่งตั้งตามความอาวุโสและความสนิทสนม แต่ไม่ได้ดูผลงานเป็นหลัก”
“ความจริงแล้ว มันต้องดูที่ผลงานตั้งแต่เริ่มรับราชการเลย ว่าคุณเคยริเริ่มโครงการ เคยต่อสู้เพื่อผลประโยชน์สาธารณะแค่ไหน ถ้าระบบนี้มันดี ก็จะช่วยคนไม่ถูกรังแก และได้เติบโตตามผลงานของตัวเอง ไม่เกิดความรู้สึกท้อถอย แต่เราไม่มีระบบที่ว่านี้ ถ้าใครประสบความสำเร็จก็สมควรได้รับรางวัล เช่นได้รับตำแหน่งใหม่ที่ดีขึ้น เพื่อให้คนได้เติบโตบนพื้นฐานของฝีมือและระบบความสามารถ ไม่ใช่ระบบอุปถัมถ์เพื่อพี่น้อง หรือเพื่อนพ้อง”
รศ.ตระกูล มีชัย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
เช้าชามเย็นชาม ไม่ได้แปลว่าขี้เกียจ แต่ระบบบังคับให้เพลย์เซฟ
อาจารย์ ตระกูล เล่าให้ฟังต่อว่า นอกจากระบบการแต่งตั้งที่มักเป็นไปตามความสนิทสนมส่วนตัว มากกว่าผลงานที่สะท้อนออกมาจริงๆ อีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ข้าราชการไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่รู้สึกเหนื่อยที่จะเดินต่อ คือระบบการทำงานที่ไม่เปิดโอกาสให้ได้คิดริเริ่มสิ่งใหม่ๆ
“คำว่าเช้าชามเย็นชามไม่ใช่นัยยะของความขี้เกียจ แต่หมายถึงทำงานตามหน้าที่ไปเรื่อยๆ ระบบราชการมีคำพูดกันว่า เรื่องไม่เป็นเรื่องก็อย่าทำเรื่องให้ผู้ใหญ่เขาเดือดร้อน ก็ทำตามหน้าที่ไป หรือไม่ก็ประโยคทำนองว่า เรื่องเหล่านี้มันเป็นเรื่องนโยบายระดับบน ถ้าระดับบนไม่เสนอมา ก็ก้มหน้าทำงานของตัวเองไป”
“ระบบราชการคือทำงานตามเปิดแฟ้มเดิม ทำตามสิ่งที่มีอยู่แล้ว ผู้บังคับบัญชาระดับสูงก็ไม่เคยลงมาฟังข้าราชการระดับล่างว่าคิดอะไร เพราะอ่านตามหนังสืออย่างเดียว ระบบราชการที่แบ่งลำดับชั้นแนวดิ่ง ทุกคนเห็นแต่ตัวหนังสืออย่างเดียว แล้วก็เอาประสบการณ์ตัวเองไปเป็นข้อจำกัดว่า ทำไม่ได้”
“ระบบไม่ได้เอื้อให้ข้าราชการระดับล่างได้ใช้ความรู้ และความถนัดของตัวเองอย่างเต็มที่ คนที่จบการศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก คนกลุ่มนี้เก่ง แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในระบบแล้วก็อยู่ไม่ไหว ไม่ก้าวหน้า บางคนหนีไปทำงานส่วนตัวไปเลย เพราะระบบมันแย่”
“ปัญหาอีกอย่างคือ ระบบราชการเองก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ กติกา ให้ข้าราชการใช้ดุลยพินิจได้บ้างเพราะมองว่าคนจ้องจะโกงกันตลอด”
ที่มาภาพ https://www.voicetv.co.th/read/164358
ระเบียบรัดตัวแน่น คนทำงานยาก ไม่กล้าคิดนอกกรอบ
ประเด็นที่อาจารย์ ตระกูล ทิ้งเอาไว้สอดคล้องกับมุมมองของ อาจารย์ อรทัย ที่เห็นว่า อุปสรรคสำคัญที่มีส่วนทำให้คนรุ่นใหม่ไม่กล้าคิดริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ก็คือกฎระเบียบจำนวนมหาศาล
“ตอนนี้เรื่องทุจริตมันกลายเป็นธงนำของข้าราชการ แต่เราออกระเบียบแข็งตัวมาก มีหน่วยงานตรวจสอบแข็งตัวมาก เราสร้างระบบกันแบบแข็งๆ จึงมีแนวโน้มที่การทำงานจะกลายเป็นรูทีน คนไม่กล้าคิดอะไรใหม่ เพราะคิดอะไรใหม่ๆ หรือคิดสิ่งที่แตกต่างออกไป มันมีแนวโน้มที่เขาจะถูกตรวจสอบว่าไม่ทำตามขั้นตอน”
“ตอนช่วงปี 2540 ที่มีการปฏิรูประบบราชการกันหนักๆ เราเคยเปลี่ยนวิธีคิดว่า การเอาระเบียบเป็นตัวตั้งมันไม่โอเคนะ เพราะต้องเอาความคล่องตัว รวดเร็ว แต่ผลกระทบทางการเมืองในหลายปีที่ผ่านมา มันส่งผลให้ความคิดพวกนี้เปลี่ยนไป พอเอาแค่เรื่องทุจริตเป็นตัวตั้ง เอาแต่ยึดระเบียบข้อบังคับชัดเจนเพียงอย่างเดียว เราก็ได้ระบบการทำงานแบบแข็งๆ”
“มันเหมือนมีความขัดแย้งในนโยบายกันเอง ในแนวคิดรัฐบาล 4.0 เน้นให้คนมุ่งไปข้างหน้า ทำด้วยความเร็ว แต่เรากลับยังห่วงแต่กฎระเบียบ มีข้อบังคับเยอะแยะมากมาย ระบบมันมีสมมติฐานว่าคนจะโกงกันอยู่ตลอด บรรยากาศแบบนี้ไม่เอื้อให้คนทำอะไรที่แตกต่าง เพราะถึงแม้ว่า ข้าราชการตั้งใจทำด้วยประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก แต่คนที่ตกอยู่ในกระบวนการตรวจสอบ ถึงแม้จะพิสูจน์ตัวเองได้ แต่ชีวิตที่ตามมาหลังจากนั้นก็ไม่โอเค”
ผศ.ดร.อรทัย ก๊กผล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปรับระบบราชการอย่างไร ก่อนที่คนรุ่นใหม่จะหมดไฟไปก่อน
ถึงแม้นักรัฐศาสตร์ทั้ง 2 คนจะคิดแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ภาพรวมแล้วเห็นตรงกันว่า ระบบราชการต้องเริ่มเปิดช่องให้คนรุ่นใหม่ในองค์กร-หน่วยงาน สามารถนำเสนอแนวคิด และริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ตามที่พวกเขามีแรงผลักดันอยากทำให้ได้ แน่นอนว่า ถึงแม้ประสบการณ์ในวงการจะน้อยกว่าข้าราชการที่อยู่มาก่อน แต่ไม่ได้แปลว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการจะทำนั้นเสียเวลาเปล่า
ในแง่หนึ่ง ประสบการณ์ของข้าราชการที่อยู่มาก่อน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยแนะนำ และผลักดันให้ความคิดริเริ่มของคนรุ่นใหม่สามารถเกิดขึ้นและนำไปปฏิบัติจริงได้
“ถ้าคุณไม่สามารถทำลายกำแพงอันนี้ได้ คุณไปสู่สังคม 4.0 ไม่รอดแน่นอน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ง่าย เพราะวัฒนธรรมองค์กรไทยเป็นแบบนี้ ถ้ามองแบบที่ให้ความเป็นธรรม ระบบราชการก็มีการพัฒนาและปรับปรุงเยอะ กว่าครึ่งก็มีการพัฒนาตัวเอง ปรับระบบให้ดีขึ้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะ คือมันไม่เลวร้าย เพียงแต่ว่ายังมีบางส่วนที่ยึดเหนี่ยวกับวัฒนธรรมแบบเดิมอยู่” อาจารย์ ตระกูล ระบุ
เปิดพื้นที่ร่วมกันระหว่างคนต่างรุ่น
อาจารย์ อรทัย เสนอว่า ความท้ายทายครั้งสำคัญของระบบราชการในวันนี้ คือการสร้างพื้นที่ร่วมกันระหว่างคนรุ่นใหม่ที่มีไฟ กับคนรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์ หากคน 2 รุ่นนี้สามารถจูนกันติด เราก็ยังจะมีความหวังในระบบราชการไทยในอนาคตได้
“การบริหารในหน่วยงานต้องคำนึงถึงคนรุ่นใหม่ด้วย เราจะออกแบบพื้นที่ของการประนีประนอมกันอย่างไร ซึ่งเป็นประเด็นที่ท้าทายมากๆ เพราะถ้าระบบทำไม่ดี เขาก็ไม่อยู่นะ ลาออกเลย เพราะความมั่นคงในอาชีพไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวของคนรุ่นใหม่แล้ว เขาสามารถเปลี่ยนงานเร็วมากขึ้น”
“เรามักจะพูดว่าเด็กไม่ค่อยอดทน เพราะเอาวิธีคิดแบบเบบี้บูมเมอร์ไปครอบ แต่คนรุ่นใหม่เขามองว่าปกติมาก เมื่อไม่แฮปปี้กับงานและมองว่ามันไม่ท้าทาย ระบบต้องคิดเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ด้วย ถ้าเรามีกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้าไปอยู่ในระบบราชการเยอะๆ เราก็จะมีคุณค่าการทำงานแบบใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นไปด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบราชการต้องรีบปรับตัว”
“สิ่งสำคัญคือ ต้องมีพื้นที่ของการประนีประนอมกัน คนรุ่นเก่ามีประสบการณ์ที่เป็นภูมิปัญญา ความคมในการอ่านนโยบาย รวมถึงวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ เราจึงต้องสร้างสะพานเชื่อมโยงกันระหว่างคน 2 รุ่นให้ได้ ไม่ใช่การสั่งงานรุ่นน้องแบบเดิมๆ อีกต่อไป ถ้าเรามีพื้นที่เชื่อมต่อกันได้ ระบบราชการมันก็จะดีมากๆ เพราะคนรุ่นใหม่ที่มีไฟ มีเทคโนโลยี มีพลัง ได้มาเจอกับประสบการณ์ของคนรุ่นเก่า”
นักรัฐศาสตร์ทั้ง 2 คนทิ้งท้ายไว้ด้วยความหวังว่า ระบบราชการไทยยังมีศักยภาพในการปรับตัวเพื่อตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนไป โดยความท้าทายอันยิ่งใหญ่คือ เราจะดีไซน์ระบบและปรับวัฒนธรรมที่ฝังลึกลงไปในเนื้อของสังคมมาเนิ่นนานกันอย่างไร ขณะเดียวกัน ก็ไม่อยากให้คนรุ่นใหม่ถอดใจไปกับระบบราชการเสียทีเดียว เพราะมันยังเป็นงานที่มีเสน่ห์และคุณค่าอยู่
การปรับตัวครั้งนี้ จึงเป็นเหมือนการพบกันครึ่งทาง คือทั้งระบบราชการและคนรุ่นใหม่ควรจะเปลี่ยนตัวเองไปด้วยกัน
“ถ้าคุณได้เข้ามาทำงานแล้ว คุณจะมีโอกาสช่วยเหลือสังคม มันเป็นเสน่ห์ คนรุ่นใหม่จะได้ตัดสินทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มใหญ่ อีกทั้งยังอาชีพที่มั่นคง ขณะเดียวกัน ระบบราชการไทยก็ต้องปรับตัว ลดข้อจำกัดต่างๆ ไปพร้อมกันด้วย” อาจารย์ อรทัย ระบุ
จริงอยู่ที่การปรับเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา
แต่มันก็ยังดีกว่ารอให้ปัญหาหมักหมมอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ และแก้ไขได้ยากกว่าเดิม
ที่มา https://thematter.co/pulse/bureaucracy-burnout/39077
Link: คลิ๊กที่นี่