รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันอังคารที่ 20 ธันวาคม 2559
เว็บมาสเตอร์ |
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 515/2559 รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันอังคารที่ 20 ธันวาคม 2559 - นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยมีพล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและข้าราชการ กระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับ โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย รมช.ศึกษาธิการ และคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการได้ไปสักการะพระพุทธรูปประจำกระทรวง "พระพุทธบารมีศักดิ์สิทธิ์สยามิศรจักรี สัฏฐีอนุสรณ์ ศึกษาทรรังสรรค์" จากนั้นรัฐมนตรีทั้ง 3 ท่าน ได้มอบนโยบายการทำงาน ที่ห้องประชุมศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า การแถลงนโยบายในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้แจ้งให้ทุกท่านได้รับทราบเกี่ยวกับแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการจะเดินหน้าต่อไป โดยมีนโยบายสำคัญ ดังนี้ ● การน้อมนำแนวพระราชกระแสฯ ด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มาปรับใช้กับนโยบายด้านการศึกษา จากการที่ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีนั้น พระองค์ทรงขอให้ผู้บริหารทุกคนสืบสานพระราชปณิธานด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาให้เกิดเป็นรูปธรรม เพราะพระราชปณิธานของพระองค์ท่านถือเป็นพรอันสูงสุด รวมทั้งพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะได้น้อมนำมาปฏิบัติเช่นกัน สำหรับพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีใจความสำคัญว่า "การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียนใน 2 ด้าน คือ ส่งเสริมให้นักเรียนมีทัศนคติที่ถูกต้อง 2) การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานชีวิตหรืออุปนิสัยที่มั่นคงเข้มแข็ง อาทิ การสร้างบุคลิกและอุปนิสัยที่ดีงาม (Character of Education)" สำหรับการสืบสานพระราชปณิธานด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น พระองค์ได้ทรงมีแนวพระราชกระแสฯ ที่ได้ทรงพระราชทานในวโรกาสต่าง ๆ เกี่ยวกับนักเรียน ครู และการศึกษา สิ่งที่สำคัญที่พระองค์ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท คือ การให้ครูรู้จักอบรมเด็กทั้งด้านศีลธรรม จรรยา และวัฒนธรรม และได้ทรงเน้นย้ำเสมอว่า "การสอน" ต่างกับ "การอบรม" สิ่งสำคัญอีกประการ คือ "ความรู้" กับ "คุณธรรม" จะต้องเป็นเรื่องเดียวกัน และ "ประเทศชาติของเราจะเจริญหรือเสื่อมลงนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชนแต่ละคนเป็นสำคัญ ผลการศึกษาอบรมในวันนี้จะเป็นเครื่องกำหนดอนาคตของชาติในวันข้างหน้า" ● การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ โดยมียุทธศาสตร์ด้านการศึกษาที่จะดำเนินการ 6 ด้าน คือ 1) ความมั่นคง 2) การสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3) การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ 4) การสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 5) การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 6) การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 1) ความมั่นคง ตัวอย่างกิจกรรมในการจัดศึกษาของสถานศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กำกับดูแลและลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ หากในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ไม่สงบก็จะส่งผลถึงคุณภาพการศึกษา หรือกรณีปัญหาโรงเรียนในเขตพื้นที่สูงจังหวัดชายแดนภาคเหนือ (โรงเรียนชายขอบ) ซึ่งที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาของโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้และโรงเรียนชายขอบด้วยเช่นกัน ทั้งการให้ความสำคัญกับภาษาที่ใช้ในพื้นที่ หรือสิ่งที่เรียนสถานศึกษา ฯลฯ ดังนั้น ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงจึงมีความสำคัญกับนโยบายด้านการศึกษาเป็นอย่างมาก 2) การสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยส่งเสริมให้มีคนไทยมีความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้ อาทิ การส่งเสริมด้านภาษาอังกฤษ หรือการอาชีวศึกษาแนวใหม่ที่มีความร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้การอาชีวศึกษาของไทยมีความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศมากขึ้น ก็ถือเป็นตัวอย่างกิจกรรมโครงการของยุทธศาสตร์ด้านนี้ 3) การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการลงทุนกับเด็กเล็กในระดับ Pre-school เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเป็นการลงทุนที่ได้ผลมากที่สุด นอกจากนี้ การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง การพัฒนาครูด้วย 4) การสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม อาทิ การประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA ซึ่งคะแนนเฉลี่ยในแต่ละวิชาของเด็กไทยยังไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่หากดูคะแนนสูงสุดของเด็กไทยในแต่ละวิชา พบว่ามีคะแนนมากกว่านักเรียนสิงคโปร์ที่ได้อันดับหนึ่งจากการประเมินผล PISA แต่การที่คะแนนเฉลี่ย PISA ของเด็กไทยได้อันดับต่ำ เพราะไทยส่งทุกโรงเรียนเข้ารับการประเมิน รวมถึงโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ซึ่งหลายโรงเรียนยังคงมีคะแนนต่ำด้วย จึงทำให้ค่าเฉลี่ยของประเทศต่ำลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นตัวอย่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างโรงเรียนที่มีความพร้อมกับโรงเรียนในชนบทที่ยังขาดการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ดังนั้น เราต้องกลับไปพิจารณาว่าโรงเรียนเหล่านั้นยังขาดอะไรบ้าง เช่น ขาดครูกี่คน มีครูครบชั้นหรือไม่ ครูสอนไม่ตรงสาขา เป็นต้น เพื่อทำการสนับสนุนและแก้ปัญหาได้ตรงจุด 5) การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีหลากหลายโครงการที่สำคัญ อาทิ โครงการเศรษฐกิจพอเพียง นโยบายโรงเรียนคุณธรรม เป็นต้น 6) การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ เช่น การดำเนินการด้านต่าง ๆ ของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เป็นต้น ● มอบหมายภารกิจและหน่วยงานในความรับผิดชอบของ รมช.ศึกษาธิการ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า ในการมอบหมายภารกิจและหน่วยงานที่รับผิดชอบให้กับ รมช.ศึกษาธิการ จะแบ่งงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี โดยคำนึงถึงความถนัดของ รมช.ศึกษาธิการ ดังนี้ 1) พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รับผิดชอบเรื่องความมั่นคงทางการศึกษาและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น การจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 เขตของไทย การจัดการศึกษาแบบบูรณาการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ใน 3 เมือง ที่สุไหงโก-ลก เบตง และหนองจิก รวมทั้งโรงเรียนในบริเวณพื้นที่ชายแดน หรือชายขอบ และมอบหมายภารกิจให้ดูแลหน่วยงาน 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) 2) ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รับผิดชอบเกี่ยวกับการขับเคลื่อนงานเกี่ยวกับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) รวมทั้งศึกษาธิการภาค, โครงการเศรษฐกิจพอเพียง, โรงเรียนคุณธรรม, โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติและโรงเรียนตามโครงการในพระราชดำริ, คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ, สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) (ITD), งานด้านการประชาสัมพันธ์ของกระทรวงศึกษาธิการ และมอบหมายภารกิจให้ดูแลหน่วยงานสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำหรับองค์กรวิชาการของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.), สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.), สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน กคศ.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.), สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทศ.), สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (องค์การมหาชน) นั้น รมว.ศึกษาธิการ จะรับผิดชอบและดูแลด้วยตนเอง ยกเว้นบางเรื่องใน สกอ. เช่น การ Reprofile สถาบันอุดมศึกษา จะมอบให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ รับผิดชอบเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม แม้จะแบ่งงานแล้ว แต่ขอให้ทุกหน่วยงานเน้นการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลและการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ซึ่งกันและกันได้ ● ประกาศว่า ศธ.ยุคนี้จะโปร่งใสที่สุดในประวัติศาสตร์ และ Anti-Corruption นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการในยุคนี้จะเน้นเรื่องความโปร่งใส และ Anti-Corruption ซึ่งจะเป็นยุคที่กระทรวงศึกษาธิการมีความโปร่งใสที่สุดในประวัติศาสตร์ จะไม่มีใต้โต๊ะ หลังโต๊ะ หลังบ้าน ตามน้ำใด ๆ ทั้งสิ้น และยืนยันว่าไม่มีการนำชื่อหรือทีมงานทั้งสามท่านไปแอบอ้างเพื่อขอรับผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น สิ่งที่สำคัญอีกประการ คือ "กระทรวงศึกษาธิการต้องการสร้างเด็กให้โตขึ้นมา เกลียดการโกง หรือเติบโตขึ้นมากับความไม่โกง ด้วยการปลูกฝังการไม่โกงไว้ในบรรยากาศ ระบบ และการสนทนา เพราะการไม่โกงมีวิธีการเดียว ก็คือ ให้เกลียดการโกง และจะได้ไม่ทำ" ● เตรียมพัฒนาโรงเรียน ICU ทั่วประเทศ ตามแนวทาง School Improvement Project ในระยะเวลาการทำงานที่เหลือตาม Roadmap ของรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการจะเน้นการทำงานที่เป็น "รูปธรรม" อย่างแท้จริง โดยโครงการที่สำคัญคือ จะให้ สพฐ.คัดเลือกโรงเรียนที่มีสภาพแย่ที่สุดหรือตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ที่เป็น ICU ในทุกภูมิภาคและทุกเขตพื้นที่การศึกษา โดยจะต้องไม่ใช่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนสานพลังประชารัฐกว่า 7,000 แห่ง เพราะโรงเรียนเหล่านั้นได้รับการสนับสนุนแล้ว ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้โรงเรียน ICU เหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วนในด้านต่าง ๆ ตามที่โรงเรียนเหล่านั้นขาดแคลน ซึ่งคาดว่าภายใน 5 ปี โรงเรียน ICU เหล่านี้จะได้รับการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน อีกทั้งนโยบายนี้จะทำให้รู้ว่าโรงเรียน ICU นั้นตั้งอยู่ในจังหวัดอะไรบ้าง เพื่อที่ กศจ. จะได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาได้อย่างตรงจุด ● ย้ำไม่ทิ้งนโยบายเดิม แต่จะปรับปรุงให้ดีและทันสมัยมากขึ้น ยืนยันว่ากระทรวงศึกษาธิการมีแนวทางที่จะสานต่อนโยบายเดิมที่ดำเนินการไว้ดีอยู่แล้ว อาทิ นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ แต่จะปรับปรุงให้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนยิ่งขึ้น หรือแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งจะจัดทำแผนงานและโครงการต่าง ๆ ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย นอกจากนี้ จะทำให้กระทรวงศึกษาธิการมีความทันสมัยกับสถานการณ์ปัจจุบัน หรือ Modernise MOE ภายใต้คำขวัญที่ว่า "Work hard, be nice" อีกทั้งจะไม่ใช้ One size fits all หรือการตัดเสื้อขนาดเดียวแล้วนำมาใช้กับทุกคน เนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีบริบทที่แตกต่างกัน ดังนั้น แนวทางการปฏิบัติงานต่าง ๆ ของแต่ละแห่ง ย่อมมีความแตกต่างกันด้วย ● ร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับลงประชามติ พ.ศ.2559 ที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการดูแลกองทุนตามร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับดังกล่าว ตามมาตรา 54 วรรคหก และดำเนินการปฏิรูปการศึกษาในด้านต่าง ๆ ให้เกิดผล ตามมาตรา 258 ต่อไป นอกจากนี้ จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาต่าง ๆ ให้มากขึ้น โดยอาจไม่แจ้งล่วงหน้า และหน่วยงานหรือสถานศึกษาไม่จำเป็นต้องจัดทำป้ายต้อนรับ หรือให้นักเรียนและครูทิ้งห้องเรียนเพื่อมาเข้าแถวต้อนรับ โดยย้ำว่ากระทรวงศึกษาธิการจะมีแนวทางดำเนินงานที่จะทำให้เด็กอยากไปโรงเรียน อยากเรียนหนังสือ และครูอยากจะสอน รวมถึงการมีห้องสมุดที่ดี และมีตำราเรียนที่มาตรฐานอีกด้วย. พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า จะตั้งใจทำงานทุกอย่างตามที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ โดยส่วนตัวมีหลักคิดประจำใจเพื่อใช้ในการทำงานต่าง ๆ คือ "ภารกิจเหนือสิ่งใด" และ "การยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล" จึงขอเชิญชวนชาวกระทรวงศึกษาธิการทุกคนร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมพลังความคิด เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา เพื่อจัดการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนไทยอย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตามที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อรัฐสภา ตามนโยบายรัฐบาล และนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อย่างเต็มกำลังความสามารถ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ในฐานะข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ โดยพร้อมจะนำประสบการณ์การทำงานในภูมิภาคตลอด 37 ปีที่ผ่านมา ให้เกิดประโยชน์ต่องานด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับแผนการศึกษาแห่งชาติ ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, การดูแลกิจการลูกเสือเนตรนารี, ความร่วมมือเพื่อพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนกับสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน), การประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนการบริหารงานของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) หรือศึกษาธิการภาค ตลอดจนการดำเนินงานของโรงเรียนหลวง หรือโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ โรงเรียนคุณธรรม เป็นต้น โดยจะน้อมนำและยึดมั่นในหลักคิดของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้ในการทำงาน เช่น หลัก "บวร" (บ้าน-วัด-โรงเรียน) ที่จะใช้ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในการบริหารการศึกษา รวมทั้งจะพยายามบูรณาการและเชื่อมโยงงานที่ได้รับมอบหมายกับงานของรัฐมนตรีทั้งสองท่านอย่างเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ มีความรู้สึกยินดีกับงานที่ได้รับมอบหมาย และพร้อมจะทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยขณะนี้เตรียมที่จะผลักดันให้เกิด Idol ในวงการศึกษา เช่นเดียวกับในอดีตที่ตนมีหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็น Idol หรือเด็กคนอื่น ๆ อาจมีครู พ่อแม่ หรือผู้ปกครองเป็นแบบอย่าง โดยจะสร้าง Idol ด้านการศึกษา เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับเด็กและเยาวชน ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดให้ครบทั้ง 76 จังหวัด พร้อมจะจัดทำ Model เพื่อพัฒนาครูอย่างยั่งยืนด้วย นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในนามของชาวกระทรวงศึกษาธิการว่า มีความยินดีที่จะได้ทำงานเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไทยร่วมกับรัฐมนตรีทั้งสามท่าน ซึ่งทุกองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับ กำลังพยายามปรับโครงการและงบประมาณให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน และในระยะยาวสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะเป็นเจ้าภาพหลัก ในการประสานการหารือร่วมกับทุกหน่วยงาน ที่จะมีการบูรณาการการทำงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต่อไป อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ บัลลังก์ โรหิตเสถียร: กราฟิก 20/12/2559
Link: คลิ๊กที่นี่ |
แสดงความคิดเห็น