การเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดบุรีรัมย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เว็บมาสเตอร์ |
การเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดบุรีรัมย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
วิวัฒน์ โรจนาวรรณ ด้วย พระปฐมบรมราชโองการ ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ รวมกับ พระราชปณิธานอันแรงกล้าที่จะได้พบเห็น เรียนรู้ จาก พสกนิกรบนแผ่นดินไทย เป็นเหตุให้ พระมหากษัตริย์ของคนไทยพระองค์นี้ ต้องเสด็จฯ ไปทั่วทุกตารางนิ้วของแผ่นดินไทย ประกอบพระราชกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม เมื่อทำการสืบค้นข้อมูลหลายๆ แหล่งพบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เคยเสด็จพระราชดำเนิน เพื่อเยี่ยมเยียนประชาชนชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ๔ ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกเสด็จฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ครั้งที่สองเสด็จฯ ปี พ.ศ.๒๕๑๔ ครั้งที่สามปี พ.ศ.๒๕๒๒ และครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๒๔
การเสด็จฯ จังหวัดบุรีรัมย์ ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๙๘ เพราะ เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเริ่มต้นด้วยการเสด็จฯ ทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรของพระองค์ ด้วยพระเนตรและพระกรรณของพระองค์เอง ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ ๒-๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเป็นทางการ ยังความปลื้มปิติแก่ราษฎรชาวอีสานอย่างหาที่สุดมิได้ เนื่องด้วยยังไม่เคยมี พระมหากษัตริย์พระองค์ใดในประวัติศาสตร์ไทย เสด็จฯ เยี่ยมราฏรอย่างใกล้ชิดเช่นนี้มาก่อน การเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรครั้งนี้กินเวลาทั้งสิ้น ๑๘ วัน รวม ๑๕ จังหวัด และเสด็จฯ ถึงจังหวัดบุรีรัมย์เป็นจังหวัดท้ายสุด เวลา ๑๐.๑๐ น.วันอาทิตย์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จถึงสถานีรถไฟจังหวัดบุรีรัมย์โดยรถไฟพระที่นั่ง จากจังหวัดสุรินทร์ เมื่อเสด็จฯ ลงจากขบวนรถไฟพระที่นั่งแล้ว ขึ้นประทับรถยนต์ออกจากสถานีรถไฟบุรีรัมย์ เสด็จฯ ผ่านถนนนิวาศ ถนนสุนทรเทพและถนนจิระ เพื่อไปประทับ ณ ศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ ตลอดเส้นทางที่รถยนต์พระที่นั่งผ่าน จะมีประ่ชาชนชาวบุรีรัมย์ยืนรอรับเสด็จฯ อย่างแน่นขนัด นายเขมชาติ อุ่นไธสง ข้าราชการครูบำนาญ เล่าว่า ขณะนั้นอายุ ๑๐ ปี กำลังเรียนอยู่ชั้น ป.๒ ของโรงเรียนประชาวิทยาลัย ที่ตั้งอยู่ภายในวัดกลาง ถนนสุนทรเทพ ก็ได้ร่วมอยู่กับกลุ่มคนจำนวนมากที่ยืนรอรับเสด็จฯ ที่บริเวณหน้าวัดกลาง ขณะรถยนต์พระที่นั่งแล่นผ่าน ก็ได้วิ่งตามรถยนต์พระที่นั่ง ในมือถือธง ปากก็ร้องตะโกนไปด้วยว่า "ขอจงทรงพระเจริญ" เมื่อขบวนรถยนต์พระที่นั่งไปถึง ศาลากลางจังหวัด ปรากฎว่าบริเวณสนามหน้าศาลากลาง มีราษฎรทุกเพศทุกวัยมารอรับเสด็จฯ อย่างเนืองแน่น ผู้ที่นำราษฎร ข้าราชการ คหบดีรับเสด็จฯ ในวันดังกล่าว คือ พ.อ.จำรูญ จำรูญรณสิทธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อล้นเกล้าสองพระองค์เสด็จฯ ประทับให้ราษฎรได้เฝ้าฯ เพื่อชมพระบารมีอย่างใกล้ชิดเป็นเวลากว่า ๑ ชั่วโมง จึงเสด็จฯ กลับด้วยรถยนต์พระที่นั่งจากศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อประทับรถไฟพระที่นั่งที่สถานีรถไฟบุรีรัมย์ เมื่อเวลา ๑๑.๔๕ น. ขบวนรถไฟพระที่นั่งแล่นถึง สถานีรถไฟลำปลายมาศ ปรากฎว่ามีประชาชนชาวลำปลายมาศ ได้กราบบังคมทูลขอให้เสด็จฯ ลงจากรถไฟพระที่นั่ง เพื่อพระราชดำเนินบนผ้าขาวที่ปูลาดไว้หน้าสถานีเพื่อนำไปสักการะ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ลงให้ราษฎรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทตามที่ราษฎรทูลขอ ส่วนพระองค์ทรงบันทึกภาพประชาชนที่ตามมาส่งเสด็จฯ จนเต็มชานชลา ก่อนเสด็จต่อไปยังสถานีรถไฟนครราชสีมา และประทับเครื่องบินพระที่นั่งเสด็จฯ กลับกรุงเทพมหานคร
เมื่อพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ แก่นายสุรวุฒิ บุญญานุศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ แล้ว ได้เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ทรงเยี่ยมราษฎรจำนวนหลายหมื่นคนที่เฝ้ารับเสด็จฯ อยู่ในบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอย่างใกล้ชิด จากนั้นจึงเสด็จฯกลับ นางศิริลักษณ์ จิรชวาลา หนึ่งในราษฎรหลายหมื่นคนที่รอรับเสด็จฯ และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ถวายพวงมาลาแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ เล่าว่า แม้เวลาจะผ่านไปนานแต่ก็ยังจำบรรยากาศและความรู้สึกในวันดังกล่าวได้ติดหูติดตา เรื่องแรกก็คือ ไม่เคยเห็นผู้คนมารวมตัวกันมากมายแบบนี้มาก่อน สอง ได้เห็นภาพความจงรักภักดีของชาวบ้านที่มีต่อล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ ที่แสดงออกแบบซื่อๆ ง่ายๆ ด้วยการก้มลงกราบที่พระบาทของในกลวงกับเจ้าฟ้าชาย จึงเชื่อว่า การเคารพเทิดทูนต่อสถาบันสูงสุดนี้เป็นเรื่องยากที่ใครจะมาทำลาย
ระหว่างทางเสด็จฯ ในวันดังกล่าว ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ ทรงทอดพระเนตราษฎรที่กำลังลอกปอ อยู่ริมหนองกุดใหญ่ บ้านกุดใหญ่ ต.หนองเต็ง ทั้งสองพระองค์จึงลงจากรถยนต์พระที่นั่ง พระราชดำเนินเข้าไปสอบถามทุกข์สุขราษฎรผู้นั้น และทรงประทับบนพื้นดินอย่างไม่ถือพระองค์ จากนั้น จึงเสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งต่อไปยัง บ้านกะนัง ต.บ้านปรือ อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ เพื่อทรงเยี่ยมราษฎรที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ในบริเวณ วัดอินทรบูรพา และมีพระราชดำรัสกับพระภิกษุด้วย ทั้งนี้ก่อนที่จะเสด็จฯ กลับ จ.สุรินทร์ ระหว่างทางได้ทรงพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร หนองกะนัง และมีพระราชดำริให้ กรมชลประทานพิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ในลำน้ำชีน้อย เพื่อประโยชน์สำหรับเพาะปลูกและใช้สอย ตลอดจนส่งน้ำอีกส่วนหนึ่งมาเติมลงใน หนองปรือ หนองกุดใหญ่และหนองกุดควง นอกจากนี้ยังทรงพระราชทานพระราชดำริให้เจ้าหน้าที่ กรมชลประทานให้พิจารณาปรับปรุง หนองกุดใหญ่และหนองกุดควง ให้เป็นอ่างเก็บน้ำถาวรสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูก และเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี ในเขตพื้นที่บ้านกุดใหญ่และพื้นที่ใกล้เคียง นายสมพงษ์ ดีล้อม อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบัวถนน ต.สูงเนิน อ.กระสัง ผู้ที่ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ตั้งแต่ต้นจนเสด็จฯ กลับ นายสมพงษ์ได้เขียนบันทึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นว่า ในหลวงว่าไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ใดๆ ให้พูดภาษาธรรมดา ที่มานี้ไม่ได้มาเป็นทางการ มาเพื่อเยี่ยมเยียนพ่อแม่พี่น้องเป็นการส่วนตัวเท่านั้น ในหลวงใส่พระทัยในเรื่องของแหล่งน้ำมาก จะกางแผนที่และใช้ดินสอสีแดงวงตามจุดต่างๆ ในแผนที่แล้วตรัสว่า มีที่ใดพอจัดทำแหล่งน้ำให้พ่อแม่พี่น้องใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังสนพระทัยในสุขภาพอนามัยของชาวบ้าน ถามว่า พี่น้องเรามีเจ็บไข้ได้ป่วยบ้างไหม เดี๋ยวจะให้หน่วยแพทย์มากตรวจรักษาโรคให้ชาวบ้าน นายสมพงษ์กล่าวว่า หลังจากในหลวงเสด็จกลัยประมาณ ๓ ปี แหล่งน้ำตามพระราชดำริเกิดขึ้นดังนี้ ๑.ฝายน้ำล้นพระราชดำริ และโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อการเกษตร ๒.อ่างเก็บน้ำวัดบ้านกะนัง ๓.ฝายห้วยตาราง ๔.ฝายห้วยหนองเต็ง ๕.ฝายห้วยตาสิบ ๖.อ่างเก็บน้ำวัดปทุมคงคา ๗.อ่างเก็บน้ำกุดใหญ่และที่อื่นๆ อีก ครบทุกแห่งที่พระองค์ทรงขีดสีแดงในแผนที่ ก่อให้เกิดประโยชน์ แก่พ่อ แม่ พี่น้อง ชาวไร่ ชาวนา ตามที่พระองค์ตรัสทุกประการ
ครั้นเสด็จพระราชดำเนินถึงสนามบิน กองบิน ๑ จังหวัดนครราชสีมา แล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งต่อไปยังฐานยิงสนับสนุน กองร้อยทหารปืนใหญ่ที่ ๑๐๓๓ บ้านโนนดินแดงต่อจากนั้นประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำนางรองในเขตพื้นที่ตำบลโนนดินแดง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาก่อสร้างโครงการจัดหาน้ำให้ราษฎรในหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำลำนางรอง เพื่อให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี เป็นเนื้อที่ประมาณ ๑๐๑,๐๐๐ ไร่ ในการนี้ ทรงปล่อยปลานิล ปลายี่สกเทศ และปลาหมอตาล จำนวนรวม ๔๓,๕๐๐ ตัว ลงในอ่างเก็บน้ำลำนางรอง เสด็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งต่อไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านซับสมบูรณ์ ทรงปล่อยปลานิล ปลายี่สกเทศ และปลาหมอตาล จำนวนรวม ๒๓,๕๐๐ ตัว ลงในอ่างเก็บน้ำ จากนั้น เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน กราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับโครงการพัฒนาและจัดที่ดินในเขตพื้นที่บ้านซับสมบูรณ์และบ้านโนนดินแดง จากนั้น ทอดพระเนตรแผนที่แสดงการสำรวจและทำแผนที่การถือครองแผนที่การวางแผนใช้ที่ดิน และแผนที่จำแนกสมรรถนะที่ดินสำหรับพืชไร่ ในโอกาสเดียวกันนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินแยกขบวนไปยังศาลาเกษตรบ้านโนนดินแดง เพื่อทอดพระเนตรกิจกรรมของสมาชิกกลุ่มเกษตรผู้เลี้ยงไหมบ้านโนนดินแดง เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปรวมขบวน ณ อนุสาวรีย์เราสู้ บ้านโนนดินแดง ทรงวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์เราสู้ ในโอกาสนี้ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นำ นายไพโรจน์ ติยะวานิช กรรมการผู้จัดการบริษัทบุรีรัมย์ค้าไม้ จำกัด เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งได้พระราชทานสำหรับใช้จ่ายในโครงการพัฒนาตามพระราชดำริทุกแห่ง ต่อจากนั้น ทรงพระดำเนินเยี่ยมราษฎรที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จอยู่เป็นจำนวนมากในบริเวณนั้น ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงสาธิตการทำน้ำถั่วเหลืองเพื่อแก้ปัญหาด้านโภชนาการของราษฎร โดยเฉพาะเยาวชน โดยมีพระราชดำริให้ส่งเสริมการปลูกถั่วเหลือง ในโครงการพัฒนาตามพระราชดำริเป็นพืชหมุนเวียน เนื่องจากเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย และยังช่วยบำรุงดิน ตลอดจนมีตลาดสำหรับจำหน่ายผลผลิตที่มั่นคง นอกจากนั้นยังทรงสนับสนุนให้มีการปลูกถั่วเหลืองตามโรงเรียนในชนบท ในลักษณะโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เพื่อใช้ทำน้ำถั่วเหลืองให้เด็กนักเรียนได้บริโภคเป็นอาหารเสริมซึ่งมีโปรตีนสูง แต่ทำง่ายและเสียค่าใช้จ่ายน้อย ทั้งนี้ได้พระราชทานอุปกรณ์การผลิต วัตถุดิบที่จำเป็นบางชนิด ตลอดจนโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเกษตรจังหวัดและสาธารณสุขจังหวัดเป็นวิทยากรในโครงการนี้ เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง กลับไปยังฐานยิงสนับสนุนกองร้อยทหารปืนใหญ่ที่ ๑๐๓๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานถุงของขวัญและยารักษาโรคแก่ผู้แทนหน่วยทหารและพลเรือน ที่ปฏิบัติงานร่วมกันในโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ จากนั้น ประทับเสวยพระกระยาหารกลางวัน สมควรแก่เวลา จึงประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินถึงโครงการชลประทานห้วยเสนง ตำบลเฉนียง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นที่ประทับแรม เมื่อเวลา ๑๘.๒๐ น.
ข้อมูลและภาพจาก หนังสือ "ประวัติศาสตร์เมืองบุรีรัมย์" ของเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ เว็บไซต์สำนักราชเลขาธิการ http://www.ohmpps.go.th และบล็อก http://memoburiram.wordpress.com
Link: คลิ๊กที่นี่ |
แสดงความคิดเห็น