http://valrom.igetweb.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

เว็บไซต์>ประพันธ์ เวารัมย์

แนวข้อสอบท้องถิ่นและส่วนราชการอื่นๆ (โหลด/ดูข้อมูล)

 รวมรูปภาพ

 เฟซบุ๊ก (facebook) (หัดทำแนวข้อสอบท้องถิ่นและอื่นๆ)

สถิติ

เปิดเว็บ01/07/2011
อัพเดท26/09/2024
ผู้เข้าชม4,158,733
เปิดเพจ6,304,332

ปฎิทิน

« November 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930

เฟซบุ๊ก ประพันธ์ เวารัมย์

ความรู้ต่างๆ ที่น่ารู้ครับ

โบนัส (อปท.) แบบประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฎิบัติราชการฯ

พระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับปฎิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2526 และแก้ไขเพิ่มเติม ถึงฉบับที่ 2 พ.ศ.2548

พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 แก้ไข ฉ 2 พ.ศ.2549

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542

พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540

จุดเน้นสาระสำคัญพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

จุดเน้นพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 3 พ.ศ. 2562

ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงิน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566

จุดเน้นระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2563

จุดเน้นพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562

จุดเน้นพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562

จุดเน้นพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 3 พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบต่างๆ

พ.ร.บ.หรือกฎหมายต่างๆที่น่าออกข้อสอบของส่วนราชการต่างๆ

แนวข้อสอบและแนวคำบรรยายปริญญาโท ม.ราม

มุมอมยิ้ม

สินค้า

 หนังสือสอบ
iGetWeb.com
AdsOne.com

ไข้เลือดออก โรคตัวร้ายที่มียุงลายเป็นพาหะ อันตรายถึงชีวิต !

(อ่าน 336/ ตอบ 0)

เว็บมาสเตอร์





          ไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากยุงซึ่งเป็นพาหะของโรค ไข้เลือดออกนอกจากจะเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนชื้น และก่อให้เกิดความกังวลต่อผู้ปกครองเวลาเด็กมีไข้ และมักพบบ่อยในเด็กต่ำกว่า 15 ปี โดยเฉพาะช่วงอายุ 2-8 ขวบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ใหญ่จะไม่มีโอกาสเป็นโรคไข้เลือดออกได้ โดยเฉพาะต้องอาศัยอยู่ในแหล่งที่ชุกชุมไปด้วยยุงตัวร้าย 

 โรคไข้เลือดออกต้องระวังยุงชนิดไหน

          ยุงลายเป็นพาหะตัวร้ายของโรคไข้เลือดออก ทางที่ดีที่จะป้องกันโรคไข้เลือดออกในเบื้องต้น คือการป้องกันตัวเองและคนรอบข้างไม่ให้โดนยุงกัด โดยเฉพาะยุงลาย ถ้ากำจัดลูกน้ำยุงลายบริเวณรอบ ๆ บ้านได้จะยิ่งดี

 
ยุงลายชอบกัดตอนไหน ช่วงไหนควรระวังพาหะไข้เลือดออก

         
 ยุงลายที่กัดเราแล้วจะทำให้เป็นโรคไข้เลือดออกมีเฉพาะยุงลายตัวเมียเท่านั้น เพราะยุงลายตัวเมียต้องการโปรตีนจากเลือดเพื่อสร้างไข่ และมักจะออกหาเหยื่อในช่วงกลางวันมากกว่ากลางคืน ฉะนั้นช่วงกลางวันจึงเป็นช่วงเวลาอันตรายที่ต้องเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัดมากที่สุด แต่ทั้งนี้ช่วงเวลาไหน ๆ ก็อย่ายอมให้ยุงมาดูดเลือดเลยน่าจะปลอดภัยกว่า

           ยุงกัดเพราะอะไร ระวังไว้ ก่อนป่วยไข้เลือดออก !

           มาดูกัน...ยุงชอบกัดคนประเภทไหน





 อาการของ ไข้เลือดออก

          อาการของ ไข้เลือดออก ไม่จำเพาะอาการมีได้หลายอย่าง ในเด็กอาจจะมีเพียงอาการไข้และผื่น ในผู้ใหญ่ที่เป็น ไข้เลือดออก อาจจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดตามตัว ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ หากไม่คิดว่าเป็น โรค ไข้เลือดออก อาจจะทำให้การรักษาช้า ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิต ทั้งนี้ลักษณะที่สำคัญของ ไข้เลือดออก มีอาการสำคัญ 4 ประการคือ 

          1. ไข้สูงลอย : ไข้ 39-40 องศาเซลเซียส มักมีหน้าแดง โดยมากไม่ค่อยมีอาการน้ำมูกไหลหรือไอ เด็กโตอาจมีอาการปวดเมื่อยตามตัว และปวดศีรษะ อาการไข้สูงมักมีระยะ 4-5 วัน 

          2. อาการเลือดออก : เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกในกระเพาะ โดยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายดำ มีจุดเลือดออกตามตัว 

          3. ตับโต 

          4. ความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด หรือช็อก  :  มักจะเกิดช่วงไข้จะลด โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น รอบปากเขียว อาจมีอาการปวดท้องมาก ก่อนจะมีอาการช็อก ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ 

 ตับอักเสบจากไข้เลือดออก อีกหนึ่งอาการที่ต้องระวัง

          อาการตับอักเสบอย่างรุนแรง สามารถพบได้ในผู้ป่วยไข้เลือดออกเช่นกัน โดยจะเกิดขึ้นกรณีที่เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายตับ หรือเกิดจากการที่ตับถูกทำลายเพราะการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้นหากมีอาการไข้เลือดออกแล้วก็ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดหากเกิดอาการตับอักเสบจะได้ทำการรักษาได้ทันท่วงที


 ลักษณะตุ่มไข้เลือดออก

          ตุ่มโรคไข้เลือดออกจะคล้ายกับตุ่มยุงกัดทั่วตัว และใกล้เคียงกับผื่นจากโรคหัด แต่จะสังเกตได้ว่า ถ้าเป็นไข้เลือดออกจะไม่มีอาการไอหรือน้ำมูกไหล และจุดเลือดออกของโรคไข้เลือดออกจะไม่รู้สึกสากมือเหมือนโรคหัด และเวลากดดึงผิวหนังให้ตึงจะไม่จางหายไปเหมือนจุดถูกยุงกัดธรรมดา ซึ่งถ้ามีอาการตามนี้ร่วมกับมีไข้สูงตลอดเวลา ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยด่วน

 
ไข้เลือดออกมีกี่ระยะ

         
 ระยะฟักตัวของไข้เลือดออกจะอยู่ในช่วง 3-5 วัน และอาการไข้เลือดออกสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

 ระยะที่ 1 ระยะไข้สูง

         
 ผู้ป่วยจะมีไข้สูงฉับพลัน ไข้จะสูงค้างอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา โดยที่กินยาลดไข้ก็ยังบรรเทาไข้ไม่ได้ ร่วมกับอาการหน้าแดง ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร และบางรายมีอาการอาเจียนเป็นพัก ๆ หรืออาจมีอาการท้องผูกหรือถ่ายเหลว และบางคนอาจมีอาการเจ็บคอ ไอเล็กน้อย ทว่าในระยะ 3 วันที่ป่วยตุ่มอาจยังไม่ขึ้นให้เห็นชัด ๆ

 ระยะที่ 2 ระยะช็อกและมีเลือดออก

         
 อาการนี้จะพบในช่วงระหว่างวันที่ 3-7 ของการป่วย และมักจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ป่วยจากเชื้อเด็งกีที่มีความรุนแรงขั้นที่ 3 และ 4 ซึ่งระยะนี้ถือเป็นช่วงวิกฤตของโรค อาการไข้ของผู้ป่วยจะเริ่มลดลง แต่กลับอาเจียน ปวดท้องบ่อยขึ้น ซึมมากขึ้น ตัวเย็น มือเท้าเย็น กระสับกระส่าย เหงื่อแตก ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นแผ่วแต่เร็ว และความดันต่ำ ซึ่งเป็นภาวะช็อก และหากไม่ได้รับการรักษาภายใน 1-2 วัน อาจทำให้เสียชีวิตได้

         
 นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเลือดออกตามผิวหนัง (มีจ้ำเขียวพรายย้ำขึ้น) เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือดหรือสีกาแฟ ถ่ายเป็นเลือด ซึ่งหากอยู่ในภาวะนี้อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น โดยหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเสียชีวิตภายใน 24-27 ชั่วโมง แต่หากผู้ป่วยสามารถประคองอาการให้ผ่านพ้นระยะนี้มาได้ ก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3 ของโรคไข้เลือดออก

 ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว

         
 ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการช็อก หรือช็อกไม่รุนแรง และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาการของผู้ป่วยจะฟื้นตัวสู่สภาพปกติ โดยผู้ป่วยจะรู้สึกตัวและร่าเริงขึ้น เริ่มกินอาหารได้ โดยอาการจะดีขึ้นตามลำดับภายในช่วงระยะ 7-10 วันหลังจากผ่านพ้นระยะที่ 2 ของโรค

 การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกในเบื้องต้นอย่างง่าย ๆ 

          ใช้ยางหนังสติ๊กรัดเหนือข้อศอกให้แน่นเล็กน้อย ให้พอคลำชีพจรที่ข้อมือได้ รัดอยู่อย่างนั้นนาน 5 นาที และลองเอาเหรียญบาทกดทับที่บริเวณท้องแขน หากพบว่ามีจุดเลือดออก (จุดแดง) เกิดขึ้นที่บริเวณท้องแขนในตําแหน่งที่ใช้เหรียญกดทับเป็นจํานวนมากกว่า 10 จุด ก็นับว่าเสี่ยงเป็นโรคไข้เลือดออกสูงมาก ยิ่งถ้าหากมีไข้มาแล้ว 2 วัน ความเสี่ยงของโรคจะอยู่ประมาณ 80% เลยทีเดียว

 เมื่อใดต้องรีบส่งโรงพยาบาลทันที


          เมื่อมีเลือดออกผิดปกติ อาเจียนมาก ปวดท้อง ซึม ไม่ดื่มน้ำ กระหายน้ำตลอดเวลา มีปัสสาวะออกน้อย

          เมื่อความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ตัวลาย เหงื่อออกโดยเฉพาะในช่วงไข้ลง



ไข้เลือดออก



 แนวทางการรักษาโรค ไข้เลือดออก


           โรคไข้เลือดออก ไม่มีการรักษาเฉพาะ การรักษาเป็นเพียงการประคับประคองอย่างใกล้ชิดโดยการเฝ้าระวังภาวะช็อก และเลือดออก และการให้สารน้ำอย่างเหมาะสมก็จะทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง โดยทั่วไปการดูแลผู้ป่วยโรค ไข้เลือดออก มีแนวทางการดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนี้ 

          1. ให้ยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ ยาลดไข้ที่ควรใช้คือ พาราเซตามอล ไม่ควรใช้ยาจำพวกแอสไพริน เนื่องจากจะทำให้เกล็ดเลือดผิดปกติ และระคายกระเพาะอาหาร 

          2. ให้สารน้ำชดเชย เนื่องจากผู้ป่วยไข้เลือดออก มักมีภาวะขาดน้ำ เนื่องจากไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ในรายที่พอทานได้ให้ดื่มน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ ในรายที่ขาดน้ำมาก หรือมีภาวะเลือดออก เช่น อาเจียน หรือถ่ายเป็นเลือดต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้สารน้ำทางเส้นเลือด 

          3. ติดตามดูอาการใกล้ชิด ถ้าผู้ป่วยไข้เลือดออกมีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น โดยเฉพาะในช่วงไข้ลด ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที 

          4. ตรวจนับจำนวนเกล็ดเลือดและความเข้มข้นของเลือดเป็นระยะ เพื่อใช้พิจารณาปริมาณการให้สารน้ำชดเชย 

 จะทราบได้อย่างไรว่าผู้ป่วยพ้นขีดอันตรายแล้ว

          ผู้ป่วยไข้เลือดออก หากมีอาการไข้ลดลง ภายใน 24-48 ชั่วโมง แล้วเริ่มกินอะไรได้ รู้สึกตัวดี ไม่ซึม แสดงว่าอาการพ้นขีดอันตรายแล้ว  

 การปฏิบัติเมื่อมีคนในบ้าน/ข้างบ้านเป็น ไข้เลือดออก 


          เนื่องจากไข้เลือดออกระบาดโดยมียุงเป็นตัวแพร่พันธุ์ ดังนั้นเมื่อมีคนในบ้านหรือข้างบ้านเป็นไข้เลือดออก ควรจะบอกคนในบ้านหรือข้างบ้านว่า มีคนเป็นไข้เลือดออกด้วย และแจ้งสาธารณสุขให้มาฉีดยาหมอกควันเพื่อฆ่ายุง รวมถึงดูแลให้สมาชิกในครอบครัวป้องกันการถูกยุงกัด สำรวจภายในบ้าน รอบบ้าน รวมทั้งเพื่อนบ้านว่ามีแหล่งแพร่พันธุ์ยุงหรือไม่ หากมีให้รีบจัดการและทำลายแหล่งแพร่พันธุ์นั้น เพื่อป้องกันการเป็นไข้เลือดออก

          นอกจากนี้ต้องคอยระวังเฝ้าดูอาการของสมาชิกในบ้านหรือข้างบ้านว่ามีไข้หรือไม่ หากมีไข้ให้ระวังว่าอาจจะเป็น ไข้เลือดออกได้

 โรคไข้เลือดออก กับยาที่ควรหลีกเลี่ยง

          ในการรักษาของผู้ป่วยไข้เลือดออกควรจะใช้ยาพาราเซตามอลในการรักษาเท่านั้น และห้ามรับประทานยาในกลุ่มแอสไพริน ซึ่งได้แก่ยาแอสไพรินชนิดเม็ด หรือยาแอสไพรินแบบซองที่ขายทั่วไป และยาในกลุ่มไอบูโปรเฟน เนื่องจากยาทั้งสองชนิดนี้เป็นยาที่มีผลข้างเคียงรุนแรง คืออาจไปกัดกระเพาะทำให้เกิดเลือดออกในกระเพาะหรือลำไส้ ซึ่งทำให้เป็นอันตรายกับผู้ป่วยได้


 อาหารสำหรับผู้ป่วยไข้เลือดออก เป็นแล้วควรกินอะไร

          ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสและฟื้นฟูร่างกายได้รวดเร็ว โดยอาหารที่ควรรับประทานคือ ผักใบเขียว ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น มะนาว ส้ม เลมอน หรือเกรปฟรุต เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้น และควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงด้วย เพื่อให้มีเรี่ยวแรงและสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ดี 

          นอกจากนี้อาหารที่รับประทานควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก น้ำผัก หรือน้ำผลไม้ แต่ทั้งนี้ที่สำคัญที่สุดก็คือการดื่มน้ำ เพราะการดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยให้ร่างกายขับสารพิษออกมาได้มากขึ้นนั่นเอง

 ไข้เลือดออกห้ามกินอะไรบ้าง รู้แล้ว เลี่ยงให้ไกล

          นอกจากจะควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ แล้ว ผู้ป่วยไข้เลือดออกนั้นก็ควรจะหลีกเลี่ยงอาหารมัน ๆ ประเภทอาหารทอด หรือผัด และไม่ควรรับประทานอาหารรสเผ็ดเพราะอาจจะทำให้แสบท้องและเกิดเลือดออกในกระเพาะได้ง่าย นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสีแดง สีดำ หรือสีน้ำตาล เพราะสีของอาหารอาจจะทำให้การสังเกตอาการเลือดออกในปัสสาวะและอุจจาระเป็นไปได้ยากขึ้นอีกด้วย


 เป็นไข้เลือดออกแล้วมีสิทธิ์เป็นซ้ำอีกได้ไหม

          เนื่องจากไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ที่ 1, 2, 3 และ 4 ซึ่งในแต่ละปีจะมีการระบาดของสายพันธุ์ต่าง ๆ สลับกันไป หากผู้ป่วยติดเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์ใดไปแล้ว ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นตลอดชีวิต และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันข้ามไปยังสายพันธุ์อื่นได้ระยะหนึ่ง ก่อนภูมิคุ้มกันในสายพันธุ์อื่นจะหายไป ดังนั้น ผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้วก็ยังสามารถกลับมาเป็นได้อีกในสายพันธุ์ที่ต่างจากที่เคยเป็น แต่ทว่า การติดเชื้อครั้งที่ 2 มักจะมีอาการรุนแรงกว่าการป่วยครั้งแรก แต่โดยส่วนใหญ่แล้วคนเรามักติดเชื้อไม่เกิน 2 ครั้ง

 การป้องกันโรค ไข้เลือดออก 

          ทุกวันนี้ยังไม่มียาที่ใช้รักษา ไข้เลือดออก ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดโดยป้องกันการแพร่ของยุง  

          15 วิธีป้องกันยุงกัดส่งตรงจากธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี




ยุงลาย พาหะนำโรคไข้เลือดออก



 การควบคุมสิ่งแวดล้อม Environmental management 

          การควบคุมสิ่งแวดล้อมเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ให้ยุงมีการขยายพันธุ์ 

          แท็งก์น้ำ บ่อ กะละมัง ที่เก็บกักน้ำจะเป็นแหล่งที่ยุงออกไข่และกลายเป็นยุง ต้องมีฝาปิดและหมั่นตรวจสอบว่ามีลูกน้ำหรือไม่ 

          ให้ตรวจรอยรั่วของท่อน้ำ แท็งก์น้ำหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับน้ำว่ารั่วหรือไม่ โดยเฉพาะฤดูฝน

          ตรวจสอบแจกัน ถ้วยรองขาโต๊ะ ต้องเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ สำหรับแจกันอาจจะใส่ทรายผสมลงไป ส่วยถ้วยรองขาโต๊ะให้ใส่เกลือเพื่อป้องกันลูกน้ำ 

          หมั่นตรวจสอบถาดรองน้ำที่ตู้เย็นหรือเครื่องปรับอากาศเพราะเป็นที่แพร่พันธุ์ของยุง โดยเฉพาะถาดระบายน้ำของเครื่องปรับอากาศซึ่งออกแบบไม่ดี โดยรูระบายน้ำอยู่เหนือก้นถาดหลายเซนติเมตร ทำให้มีน้ำขังซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง 

          ตรวจสอบรอบ ๆ บ้านว่ามีแหล่งน้ำขังหรือไม่ ท่อระบายน้ำบนหลังคามีแอ่งขังน้ำหรือไม่ หากมีต้องจัดการ

          ขวดน้ำ กระป๋อง หรือภาชนะอื่นที่อาจจะเก็บขังน้ำ หากไม่ใช้ให้ใส่ถุงหรือฝังดินเพื่อไม่ให้น้ำขัง 

          ยางเก่าที่ไม่ใช้ก็เป็นแหล่งขังน้ำได้เช่นกัน 

          หากใครมีรั้วไม้ หรือต้นไม้ที่มีรูกลวง ให้นำคอนกรีตเทใส่ปิดรู ต้นไผ่ต้องตัดตรงข้อและให้เทคอนกรีตปิดแอ่งน้ำ  





 การป้องกันส่วนบุคคล 

          ใส่เสื้อผ้าที่หนาพอสมควร ควรจะใส่เสื้อแขนยาว และกางเกงขายาว เด็กนักเรียนหญิงก็ควรใส่กางเกง 

          การใช้ยาฆ่ายุง เช่น pyrethrum ก้อนสารเคมี 

          การใช้กลิ่นกันยุง เช่น ตะไคร้ หรือสารเคมีอื่น ๆ 

          นอนในมุ้ง

          การควบคุมยุงโดยทางชีวะ 

          เลี้ยงปลาในอ่างที่ปลูกต้นไม้ หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ 

          ใช้แบคทีเรียที่ผลิตสาร toxin ฆ่ายุง ได้แก่ เชื้อ Bacillus thuringiensis serotype H-14 (Bt.H-14) และ Bacillus sphaericus (Bs) 

          การใช้เครื่องมือดักจับลูกน้ำซึ่งเคยใช้ได้ผลที่สนามบินของสิงคโปร์ แต่สำหรับกรณีประเทศไทยยังได้ผลไม่ดีเนื่องจากไม่สามารถควบคุมแหล่งน้ำธรรมชาติจึงยังมีการแพร่พันธุ์ของยุง  






 การใช้สารเคมีในการควบคุม 

          ใช้ยาฆ่าลูกน้ำ วิธีการนี้จะสิ้นเปลืองและไม่เหมาะที่จะใช้อย่างต่อเนื่อง วิธีการนี้จะเหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดและได้มีการสำรวจพบว่ามีความชุกของยุงมากกว่าปกติ

          ใช้สารลดแรงตึงผิว เช่น ผงซักฟอก สบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน ฉีดพ่นกำจัดยุง เพราะสารดังกล่าวจะไปทำลายระบบการหายใจของแมลง ทำให้แมลงตายได้ 

          ใช้ "ทรายอะเบท" กำจัดยุงลาย โดยให้นำทรายอะเบท 1 กรัม ใส่ในภาชนะที่มีน้ำขัง (อัตราส่วน 1 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร หรือ 20 กรัม) จะป้องกันไม่ให้เกิดลูกน้ำได้นานประมาณ 1-2 เดือนเลยทีเดียว ซึ่งหลังจากใช้เสร็จแล้วต้องเก็บในภาชนะบรรจุที่ปิดมิดชิด รวมทั้งเก็บในที่เย็น แห้ง และมีการระบายอากาศอย่างเพียงพอ

          การใช้สารเคมีพ่นตามบ้านเพื่อฆ่ายุง วิธีการนี้ใช้ในประเทศเอเชียหลายประเทศมามากกว่า 20 ปี แต่จากสถิติของการระบาดไม่ได้ลดลงเลย การพ่นหมอกควันเป็นรูปธรรมที่มองเห็นว่ารัฐบาลได้ทำอะไรเกี่ยวกับการระบาด แต่การพ่นหมอกควันไม่ได้ลดจำนวนประชากรของยุง ข้อเสียคือทำให้คนละเลยความปลอดภัย การพ่นหมอกควันจะมีประโยชน์ในกรณีที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก

 การระบาดของไข้เลือดออก

          ช่วงเวลาการระบาดของโรคไข้เลือดออกสามารถพบได้ตลอดทั้งปี แต่จะระบาดมากในฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมของทุกปี

 สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออก

          จากข้อมูลทางกระทรวงสาธารณสุขเผยว่า 8 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนมกราคม-18 สิงหาคม 2558 มีจำนวนผู้ป่วยสะสม 51,500 ราย มากกว่าปี 2557 ถึง 2 เท่า และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 37 ราย โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในภาคกลาง รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ส่วนใหญ่พบในกลุ่มเด็กโต อายุระหว่าง 10-14 ปี โดยสาเหตุร้อยละ 80 เกิดจากถูกยุงลายที่อยู่ในบ้านกัด และส่วนที่เหลือคือถูกยุงลายที่อยู่ตามสวนกัด

          หากใครมีข้อสงสัย หรือต้องการปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องโรคไข้เลือดออก สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) หมายเลขโทรศัพท์ 089-204-2255 ตลอด 24 ชั่วโมง

 เห็นตัวเล็ก ๆ อย่างนี้ แต่ยุงคือฆาตกรอันดับหนึ่งของโลกเชียวนะ








          จากสถิติสัตว์ร้ายที่คร่าชีวิตมนุษย์มากที่สุดในโลก 15 อันดับ ที่ gatesnotes บล็อกส่วนตัวของบิล เกตส์ ได้นำข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) มาสรุปให้ดูเมื่อปี 2014 จะเห็นว่า สัตว์ตัวเล็ก ๆ อย่างยุง สามารถคร่าชีวิตมนุษย์เกือบล้านคนต่อปี ถือเป็นสัตว์ที่อันตรายกับสวัสดิภาพมนุษย์มากกว่าสัตว์ดุร้ายอย่างงูพิษหรือฉลามเสียอีก เอาเป็นว่าอย่ามัวเสียเวลาค่ะ มาไล่เรียง 15 สัตว์ตัวร้ายที่อาจเป็นภัยกับมนุษย์แบบเรียงตัวเลยดีกว่า

 1. ยุง

          ด้วยความที่ยุงมีขนาดตัวเล็ก บินได้คล่องตัว มนุษย์เราจึงเสี่ยงกับเชื้อไวรัสที่ยุงเป็นพาหะนำมาทำร้ายเราได้ง่ายกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้มาลาเรีย ที่คร่าชีวิตมนุษย์กว่า 600,000 คนต่อปี และเป็นพาหะที่ทำให้มนุษย์ป่วยด้วยโรคไข้มาลาเรียกว่า 200 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งนอกจากโรคไข้มาลาเรียแล้ว เจ้ายุงที่มีมากกว่า 2,500 สายพันธุ์ ยังเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก โรคไข้เหลือง และโรคสมองอักเสบอีกต่างหาก ซึ่งจากสถิติแล้ว ยุงที่มีพาหะของเชื้อไวรัสชนิดต่าง ๆ ได้คร่าชีวิตมนุษย์มากถึง 725,000 คนต่อปี

 2. มนุษย์

          มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐที่ทำร้ายกันและกันเองมากเป็นอันดับที่ 2 โดยเฉลี่ยแล้วมีผู้เสียชีวิตจากน้ำมือของคนด้วยกันเองถึงปีละ 475,000 คนต่อปีเลยทีเดียว

 3. งู

          สัตว์เลื้อยคลานมีพิษร้ายอย่างงู รั้งอันดับ 3 ไปด้วยสถิติคร่าชีวิตมนุษย์ทั่วโลกกว่า 50,000 คนต่อปี

 4. สุนัข (ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า)

          โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคอันตราย หากเป็นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก ซึ่งได้คร่าคนไปกว่า 25,000 คนต่อปี

 5. แมลงดูดเลือด

          พาหะนำโรคง่วงหลับมาคร่าชีวิตมนุษย์ปีละ 10,000 คนทั่วโลก

 6. มวนเพชฆาต 

          แมลงชนิดนี้มีฉายาว่า ฆาตกรแบกศพ มักพบในประเทศมาเลเซีย และเป็นแมลงที่คร่าชีวิตมนุษย์มากถึงปีละ 10,000 คนเช่นกัน

 7. หอยเชอร์รีหรือทากน้ำ

          ตัวการของโรคไข้สมองอักเสบ หากกินหอยชนิดนี้ดิบ ๆ ก็อาจได้รับเชื้อจนเพิ่มสถิติคร่าชีวิตคนจาก 10,000 คนต่อปีให้มากขึ้นได้

 8. พยาธิไส้เดือน 

          อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบคือ เจ้าพยาธิไส้เดือนนี่ล่ะ โดยจากสถิติแล้ว สัตว์ตัวเล็ก ๆ นี้คร่าคนไปกว่า 2,500 คนทั่วโลกเลยทีเดียว

 9. พยาธิตัวตืด

          พาหะนำโรคพยาธิตัวตืด ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกมาไม่ต่ำกว่า 2,000 คนต่อปี

 10. จระเข้

          สัตว์ดุร้ายที่เราเข้าใจกันมา จริง ๆ แล้วมีสถิติคร่าชีวิตมนุษย์เพียง 1,000 คนต่อปี ทิ้งห่างสัตว์ตัวเล็ก ๆ อย่างยุงมาไกลโข

 11. ฮิปโปโปเตมัส

          แม้จะเป็นสัตว์ที่เราเห็นในสวนสัตว์ แต่ฮิปโปโปเตมัสก็แฝงอันตรายมากพอจะคร่าชีวิตมนุษย์ได้กว่า 500 คนต่อปี

 12. ช้าง

          ด้วยความที่ช้างอยู่ในป่าเขาเป็นส่วนใหญ่ สถิติทำร้ายมนุษย์จนถึงขั้นเสียชีวิตจึงอยู่ที่ 100 คนต่อปีเท่านั้น

 13. สิงโต

          เหตุผลเดียวกันกับช้างป่า สิงโตก็ทำร้ายมนุษย์ปีละ 100 คนโดยเฉลี่ยเช่นกัน

 14. หมาป่า

          สถิติความร้ายกาจของหมาป่าอยู่ที่คร่าชีวิตมนุษย์ไปปีละ 10 คนโดยเฉลี่ย ซึ่งอาจเป็นเพราะหมาป่าไม่ใช่สัตว์ที่อยู่ใกล้ตัวเรานัก

 15. ฉลาม

          วายร้ายอย่างฉลามตามสถิติแล้วถูกจัดอันดับไว้ที่ 15 ด้วยสถิติคร่าชีวิตมนุษย์ 10 คนต่อปี

          จะเห็นได้ชัดเลยว่า สัตว์มีพิษหรือสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคร้ายที่คร่าชีวิตมนุษย์ได้จะเป็นสัตว์ขนาดเล็ก อยู่ใกล้ ๆ หรือรอบตัวเรา ซึ่งก็เป็นช่องโหว่ที่ทำให้เราลืมระมัดระวังตัวเองจากวายร้ายเหล่านี้ิ จนเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อชีวิตให้ตัวเองโดยไม่รู้ตัว




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์
Z NEWS
Articles of Health Care

PLOS MEDICINE
Nature 
CrocBITE

ที่มา
http://health.kapook.com/view2522.html


Link: คลิ๊กที่นี่

Webboardแสดงความคิดเห็น
เยี่ยม   แย่   แย่   แย่   เขิน   หยอกล้อ  ตกใจ  ร้องไห้   สงสัย   ขอโทษ   หดหู่   อย่าน่ะ   ต่อว่า   โอเค
*ชื่อ
*สถานะ  
*อีเมล
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
*รหัสยืนยัน

หมายเหตุ : : กรุณากรอกข้อมูลที่มี * ทุกช่อง

view

 แบ่งปันความรู้

 หากใฝ่ฝัน ความก้าวหน้า

 จงสู้ต่อไป อย่าไหวหวั่น

 ขอเพียงตั้งใจ ใฝ่รู้

 เพราะเราคือ คนไทยใจกล้าแกร่ง

view