ไขความกระจ่าง ข้าราชการส่วนท้องถิ่น “จาก ซี เป็น แท่ง” โดยเลื่อมใส ใจแจ้ง
นับแต่การเปลี่ยนแปลงสำคัญเมื่อปี 2551 ข้าราชการพลเรือนและข้าราชการประเภทอื่นประกาศเปลี่ยนแปลงระบบราชการไทยจาก “ระบบซี” มาเป็น “ระบบแท่ง” ณ เวลานั้น ในส่วนของข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้กำกับดูแลคือ สำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) และ ก.กลาง ทั้ง
ปี 2557 ก.ถ. ก.กลาง ประกาศให้ข้าราชการ อปท.เข้าสู่ระบบแท่ง โดยมีบทเฉพาะกาล ให้ทำความเข้าใจกับข้าราชการ อปท.ทุกระดับออกไปอีก 1 ปี กำหนดการใช้ระบบแท่งที่แท้จริง คือปี 2559 ดังนั้นในปี 2558 จึงเกิดกระบวนการสร้างความเข้าใจให้กับข้าราชการ อปท. ภายใต้สโลแกน “ระบบแท่ง คน อปท.ต้องดีกว่าระบบแท่งของ ก.พ. และต้องดีกว่าระบบซีเดิม เมื่อเข้าสู่แท่งแล้ว ต้องไม่กระทบสิทธิที่มีอยู่เดิม”
การเข้าสู่ระบบแท่ง อปท.ในเดือนมกราคม 2559 ก.ถ.ระบุว่ากระบวนการต่างๆ พร้อมแล้ว คน อปท.ต้องเข้าระบบแท่งตามเวลาที่กำหนด ขณะที่ ก.กลาง ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้าราชการ อปท.ยังไม่มีความพร้อม จึงขอให้ขยายเวลาออกไปอีก 6 เดือน ซึ่งคาดหมายว่าจะเรียบร้อยสมบูรณ์ ประกาศให้ใช้ได้พร้อมกันในราวๆ เดือนมิถุนายน 2559
อย่างไรก็ตาม ด้วยมีเสียงเรียกร้องที่ไม่เข้าใจของพี่น้องคนท้องถิ่น หลังจากที่เป็นระบบแท่งแล้ว ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นอีกเรื่องที่พี่น้องคนท้องถิ่นต้องการคำตอบและความชัดเจน “ผู้นำท้องถิ่น” จึงอาสาเข้าไปพูดคุยกับเลื่อมใส ใจแจ้ง คนท้องถิ่นโดยสายเลือด อดีตปลัดเทศบาลนครหาดใหญ่ และถือเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นคนแรกที่ได้นั่งเป็นกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) ในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ ในระบบแท่ง (Broadband) เพื่อขอรายละเอียด และไขข้อข้องใจในประเด็นดังกล่าว
.........................................................................
เลื่อมใส ใจแจ้ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ถ.
พิจารณาอดีตเทียบปัจจุบันและอนาคต คนท้องถิ่นจะพึงพอใจต่อระบบแท่งที่จะเกิดขึ้น
คือเรื่องของระบบซีเป็นระบบแท่งนั้น เริ่มจาก ก.ถ.ชุดนี้ คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น หรือที่เราเรียกว่า ก.ถ.นะคะ ซึ่งชุดนี้ถือเป็นชุดที่ 3 ชุดแรก ท่านอาษา เมฆสวรรค์ เป็นประธาน ชุดที่ 2ท่านประยูร พรหมพันธุ์ เป็นประธาน ส่วนชุดปัจจุบันนี้ ท่านปริญญา นาคฉัตรีย์ เป็นประธาน
ในฐานะที่ดิฉันเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารงานท้องถิ่น ก็ได้รับมอบหมายให้ไปดูเรื่องการเข้าสู่ระบบแท่งของท้องถิ่น ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยได้ให้ทาง สปร.ทำวิจัย ว่าระบบนี้เหมาะสมกับคนท้องถิ่นหรือไม่ ซึ่ง สปร.ก็ไปดำเนินการทำวิจัยมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากเราพิจารณาผลงานวิจัยของ สปร. เราก็เห็นว่าเป็นระบบที่สมควรที่ทางคนท้องถิ่นจะได้เข้าสู่ระบบ Broadband หรือที่เราชาวท้องถิ่นเรียกกันว่า ระบบแท่ง ซึ่งแต่เดิมเราเป็นระบบพีซี (Position Classification) ทีนี้ระบบ Broadband นั้น เมื่อทางคณะกรรมการของ ก.ถ.ร่วมกันพิจารณาแล้ว เห็นความเหมาะสมก็เลยอนุมัติว่า ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบราชการของท้องถิ่น จากบริหารงานบุคคลระบบพีซี มาเป็นระบบ Broadband
เมื่อทาง ก.ถ.อนุมัติว่า 1 มกราคม 2558 เป็นนโยบายของ ก.ถ.ที่จะเข้าแท่ง แต่จากการที่ ก.ถ.อนุมัติไปนั้น ระบบต่างๆ จะต้องถูกรันงานโดย ก.กลาง และก็กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทางกรมฯ จะต้องนำไปพิจารณาอีกหลายเรื่อง ซึ่งทางกรมฯ ก็ขอเวลากับ ก.ถ. 1 ปี เพื่อขอให้เข้าสู่ระบบแท่ง 1 มกราคม 2559 ซึ่งในที่สุดการประชุมจากหลายๆ ฝ่าย ได้ตั้งอนุกรรมการหลายชุดด้วยกันที่จะมาดูในเรื่องนี้ ในที่สุดเราก็พิจารณาว่า ระบบแท่ง หรือระบบ Broadband นั้น เหมาะสมกับคนท้องถิ่นที่จะเข้าใน 1 มกราคม 2559 หลังจากการพิจารณาข้อดีข้อเสียแล้ว เราเห็นว่าข้อดีของการจำแนกตำแหน่งเป็นระบบแท่งนั้น ประการแรก เป็นการสะท้อนถึงลักษณะงานของแต่ละแท่งมากขึ้น ทุกคนก็จะได้ทำงานของตัวเองให้เต็มที่ ประการที่สอง ก็จะพัฒนาตัวเอง เพราะจะถูกประเมินสมรรถนะ ทักษะ ความรู้ต่างๆ ตลอดจนผลงาน เมื่อตนเองถูกประเมินก็จะทำให้เกิดการพัฒนาตนเองมากขึ้น ประการที่สาม การเข้าสู่ระบบแท่ง จะเป็นการเทียบเคียงกับระบบ ก.พ. หรือข้าราชการพลเรือนได้เหมือนๆ กัน กทม.ที่เป็นท้องถิ่นใหญ่ก็ได้เข้าแท่งไปแล้ว
ข้อดีของการจำแนกตำแหน่งเป็นระบบแท่ง
สะท้อนถึงลักษณะงานของแต่ละแท่งมากขึ้น…
คนก็จะได้ทำงานของตัวเองให้เต็มที่ พัฒนาตัวเอง เพราะจะถูกประเมินสมรรถนะ ทักษะ ความรู้ต่างๆ ตลอดจนผลงาน…
เทียบเคียงกับระบบ ก.พ. หรือข้าราชการพลเรือนได้เหมือนๆ กัน...
ซึ่งการเข้าแท่งหรือระบบ Broadband นี้ ก.พ.เขาดำเนินการมาตั้งแต่ 11 ธันวาคม 2551 ส่วน กทม.เข้าเมื่อปี 2554 แต่ กทม.นั้นก็จะใช้ ก.พ.เป็นแม่แบบเกือบทั้งหมด ส่วนประการสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือว่า เมื่อเป็นระบบเดียวกัน เมื่อมีการโอนย้าย ไม่ว่าจาก ก.พ.มาท้องถิ่น หรือท้องถิ่นไปเป็นข้าราชการพลเรือน ก็สามารถที่จะโอนย้ายกันได้ เพราะมันอยู่ในระนาบในแท่งเดียวกัน นี่คือข้อดี
ส่วนข้อที่ทางข้าราชการท้องถิ่นเป็นกังวล คือจะต้องทำตัวชี้วัด จะถูกประเมินตัวชี้วัดว่างานของเขานั้นจะถูกชี้วัดออกมาอย่างไร ซึ่งอาจจะยากกว่าระบบซี ระบบแท่งถ้างานคุณไม่ชัดเจน ตัวชี้วัดก็จะออกมา ประการต่อไปจะมีการประเมินผลงานต่างๆ มากขึ้น ทำให้การที่เขาจะเลื่อนระดับ ปรับตำแหน่งต่างๆ นั้นยากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ ก็ได้รับการสอบถามจากนายกฯ หลายๆ ท่านว่า เมื่อเข้าสู่ระบบแท่งแล้ว ข้าราชการได้ประโยชน์มากมาย ได้เงินเดือนขึ้น ได้ระบบค่าตอบแทน ระบบเงินประจำตำแหน่งก็มากขึ้น หลายระดับด้วยกัน แล้วทางท้องถิ่นจะได้อะไร
ดิฉันขอเรียนว่า ถ้าข้าราชการท้องถิ่นได้รับขวัญกำลังใจในการทำงานดีขึ้น เขาพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น เขาก็จะมีจิตบริการ หรือ Service Mind ให้กับประชาชนในท้องถิ่นมากขึ้น เมื่อประชาชนในท้องถิ่นได้รับการดูแล ได้รับการบริการดี ท้องถิ่นได้รับการพัฒนามากขึ้น นักการเมืองซึ่งเป็นนายกเทศมนตรี นายก อบต. นายก อบจ. ก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเช่นเดียวกัน ดิฉันถือว่าเมื่อคนท้องถิ่นได้รับการพัฒนา มีขวัญกำลังใจมากขึ้น การพัฒนาในระนาบต่างๆ มันก็เป็นเหมือนโดมิโนที่จะเชื่อมต่อกัน
แต่ในระบบแท่งของท้องถิ่นนั้นอาจจะมีส่วนต่างที่ไม่เหมือนกับ ก.พ.อยู่บ้าง ที่เราปรับไม่ให้เหมือนกันนั้น อาจจะมีบางส่วนที่ทำให้เห็นว่าคนท้องถิ่นกับข้าราชการพลเรือนนั้นทำงานอาจจะต่างกัน เป้าหมาย วัตถุประสงค์ต่างกัน ผู้บังคับบัญชาต่างกัน เพราะคนท้องถิ่นนั้นเราอยู่ภายใต้การดูแลของนักการเมืองท้องถิ่น เพราะฉะนั้นนักการเมืองท้องถิ่นอาสาดูแลประชาชน มาเพื่อจะตอบสนองความต้องการของประชาชน นักการเมืองมาแปลงเป็นนโยบาย จากนโยบายมาแปลงเป็นโครงการ ผลงาน แผนงานออกมา เพื่อให้เกิดผลงานให้กับประชาชน
ฉะนั้นการทำงานของเราก็จะต่างกับข้าราชการพลเรือน เราก็ควรจะปรับเปลี่ยนในบางตัวให้เหมาะสมกับเรา เช่นการจำแนกตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนนั้น ในด้านปฏิบัติคือแท่งทั่วไป แท่งวิชาการ เราเหมือนกัน แต่แท่งอำนวยการซึ่งเริ่มเป็นบริหารแล้วของเราจะต่างกับเขา เพราะของเขาจะขึ้นอำนวยการได้ต้องเป็นระดับ 8 แต่ของเรา เราปรับให้ตั้งแต่ซี 6 ถามว่าเหตุผลอะไร เพราะของเรา เรามีองค์กรเล็ก อบต.เล็ก เทศบาลตำบลเล็ก ถ้าเราเอาระดับซี 8 ซี 9 มาบริหาร หนึ่ง หาคนยาก สอง มันมากเกินไป เราก็เลยให้ขึ้นมาบริหารได้ตั้งแต่ซี 6 ซี 7 เป็นหัวหน้ากอง เป็นผู้ช่วย ผอ.กอง เป็น ผอ.กอง 7 อะไรเหล่านี้เป็นต้น
ฉะนั้นระดับฝ่ายอำนวยการ เราจึงแบ่งไม่เหมือนกับ ก.พ. ก.พ.แบ่งระดับอำนวยการออกเป็น 2 ระดับ คือ อำนวยการระดับต้น เริ่มจากซี 8 อำนวยการระดับสูง ไปที่ซี 9 แต่ของเรา เราตัดเป็น 3 ระดับ ระดับต้นก็คือ ระดับ 6 ระดับ 7 ระดับกลาง ระดับ 8 และระดับสูง ระดับ 9 เมื่อเราไม่เหมือนกัน จึงทำให้ชื่อตรงนี้จะต่างกันไปเล็กน้อย คือถ้าอำนวยการธรรมดา ก็จะเป็นของ ก.พ. เพราะเขาเริ่มต้นที่ซี 8 แต่ของเรา เราเรียกอำนวยการท้องถิ่น คือเน้นให้เห็นว่าที่มันต่างออกมามันเป็นของคนท้องถิ่น บริหารก็เช่นเดียวกัน ของระดับ ก.พ. บริหารของเขาจะต้องเริ่มที่ซี 9 โดยเริ่มจากรองผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วก็มีรองอธิบดี ส่วนบริหารสูง เขาก็จะเป็นอธิบดีกับผู้ว่าราชการจังหวัด และปลัดกระทรวง ตำแหน่งของเขาชัดเจน ถ้าอธิบดีก็ตรงเลยว่าอธิบดี ก็จะรู้ว่านั่นคือซี 10 ถ้าเป็นปลัดกระทรวงก็คือซี 11 ผู้ว่าฯ ก็คือซี 10 ของเขาจะชัดเจน
แต่ของเรา ท้องถิ่นเราเรียกเหมือนกัน รองปลัดฯ ก็รองปลัดฯ ปลัดฯ ก็ปลัดฯ ของเราแบ่งบริหารไว้ที่ระดับ 6 7 เรียกว่าบริหารต้น บริหารกลางระดับ 8 บริหารสูงระดับ 9 10 เพราะปัจจุบันเรามีปลัดเทศบาลนคร 10 อยู่ 3 ท่านแล้ว คือเทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลนครนครปฐม เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ส่วนองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อีก 2 ท่าน คือ อบจ.ศรีสะเกษ และ อบจ.สงขลา เพราะฉะนั้นบริหารสูงเราถึงต้องมีระดับ 10 ด้วย บริหารตรงนี้เราก็เรียกว่า บริหารท้องถิ่นเช่นเดียวกัน นี่คือประการหนึ่งที่เราไม่เหมือนกับ ก.พ.
ประการที่สอง ที่เราไม่เหมือนกับ ก.พ. คือการพิจารณาขึ้นเงินเดือน ของ ก.พ.เขาเป็นระบบแท่งที่ขึ้นเงินเดือนให้ตั้งแต่ 0 ถึง 6 เปอร์เซ็นต์ พิจารณาตามค่างาน ผลงาน คิดจาก KPI ของเรามาพิจารณาแล้วว่า ถ้าใช้ระบบเปอร์เซ็นต์ คนท้องถิ่น หนึ่ง ยังไม่ค่อยชัดเจน และเข้าใจตรงนี้ แล้วก็ผู้พิจารณาการขึ้นเงินเดือนของเรา ผู้อนุมัติคือนักการเมืองท้องถิ่น เราจึงมองว่า ถ้าอย่างนั้นเราขอเป็นระบบเดิม คือขึ้นเป็นขั้นเหมือนเดิม นี่คือข้อแตกต่างของเราที่ต่างกับ ก.พ. ซึ่งขณะนี้เราก็พิจารณากันไปเรียบร้อยแล้ว และตอนนี้เราเข้าสู่การจำแนกตำแหน่งโดยทางกรมฯ ก็จัดอบรมให้ความรู้กับหัวหน้ากลุ่ม และท้องถิ่นจังหวัด เพราะจะต้องเป็นแกนหลักในการจำแนกตำแหน่งขององค์กรท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดนั้นๆ
เรื่องของระบบแท่ง ก.ถ.เรามีแนวทางและดำเนินการให้ความรู้มาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว ปัจจุบันเราก็ทำความเข้าใจเพิ่มเติม กำลังดำเนินการอีก 12 ครั้ง ที่ทาง ก.ถ.ได้รับจากกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการโดยการให้ความรู้เพิ่มเติม และก็ความชัดเจน เพื่อให้คนท้องถิ่นได้เข้าใจถึงระบบแท่งอย่างถ่องแท้ ซึ่งคิดว่าเวลานี้ท้องถิ่นก็ตื่นตัว หลายๆ ท้องถิ่น หลายๆ อบต. หลายๆ เทศบาล และก็ อบจ. ต่างก็จัดอบรมให้ความรู้กับคนของตัวเอง เพราะยังไงๆ ก็เข้าสู่ระบบนี้แล้ว ทุกคนก็ต้องมีความรู้ มีความเข้าใจ และพัฒนาทั้งตัวเอง พัฒนาองค์กร เพื่อไปสู่กระบวนการที่เราจะเป็นพื้นฐานการพัฒนาประเทศต่อไป
ในส่วนคนท้องถิ่นหลายส่วนที่ยังไม่เข้าใจ คือในการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตาม มันจะต้องมีผลกระทบ ผลกระทบนี้ ถ้าผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็จะพึงพอใจ แต่ผู้ที่คิดว่าตัวเองเสียประโยชน์ ก็ไม่พอใจ นี่คือเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ทีนี้จากที่เราสำรวจ คนที่พอใจกับไม่พอใจ ที่พอใจมีถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังมีอยู่บ้างที่เขาคิดว่าเขาควรได้ เขาควรมี แต่เขายังไม่ได้ เพราะว่าการที่ใครจะได้อะไรนั้น มันมีเกณฑ์ที่จะต้องประเมินความเหมาะสมว่าเขาเหมาะสมหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร ซึ่งแต่ละคนก็ยังรู้ว่านี่คือสิทธิ์ของตัวเอง
ระบบการจำแนกตำแหน่งมันเปลี่ยนหมดเลย ทุกเทศบาล ทุก อบจ. อบต.
แต่นโยบาย ก.ถ.เรา คุณจะไม่เสียสิทธิ์ที่คุณมีอยู่เดิม
เคยได้เงินประจำตำแหน่ง เคยได้รับค่าตอบแทนเท่าไร สิทธิ์นั้นคุณยังได้
แต่นโยบาย ก.ถ.เราบอกเลยนะคะว่า คุณจะไม่เสียสิทธิ์ที่คุณมีอยู่เดิม คุณเคยเป็นอย่างไร เคยได้เงินประจำตำแหน่ง เคยได้รับค่าตอบแทนเท่าไร สิทธิ์นั้นคุณยังได้ แต่ถ้าประโยชน์ที่คุณจะได้ในอนาคต มันไม่ถือว่าสิทธิ์ที่คุณได้ เพราะคุณยังไม่เกิดสิทธิ์นั้น เพราะฉะนั้นในเรื่องของการสอบก็ดี การฟรีซเวลาไว้ 3 เดือนก่อน เพื่อจะจัดระบบการเข้าแท่งให้สมบูรณ์ก็ดี ก็ทำให้หลายๆ คนคิดว่า “ฉันควรจะได้สอบในเดือนนี้แล้วแหละ” แต่ไม่ได้สอบ ฉันเสียสิทธิ์ ต้องขอเรียนว่านั่นยังไม่เกิดสิทธิ์ เพียงแต่คุณมีโอกาสที่จะเกิดตัวนั้น แต่เราจำเป็น ซึ่งการฟรีซนี้คุณก็จะเสียโอกาสการสอบเพียงครั้งเดียว คุณก็เตรียมตัวให้พร้อมเพื่อจะให้เกิดโอกาสในเดือนต่อไปที่เขาจะเปิด
แต่ถามว่าทำไมต้องหยุดใน 3 เดือนนี้ เพราะระบบการจำแนกตำแหน่งมันเปลี่ยนหมดเลย ทุกเทศบาล ทุก อบจ. อบต. ต้องไปแก้ปัญหาตรงนี้ให้หมด เพราะเขาแก้เรียบร้อยแล้ว เขาก็จะต้องส่งให้จังหวัดตรวจสอบ เพื่อเตรียมรับในอนาคต แต่พอเขาแก้ไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว จังหวัดตรวจสอบเสร็จแล้ว คุณมาสอบอีก ก็ต้องแก้กันใหม่อีก เพราะฉะนั้นมันก็จะไม่จบ กระบวนการมันก็จะไม่จบ กรมฯ เลยจำเป็นต้องหยุดช่วงนี้ไว้แค่ 3 เดือน พักเบรกเอาไว้เท่านั้นเอง แล้วคุณก็ไม่ได้เสียอะไร เพียงแต่คุณไม่ได้สอบเดือนนี้ แต่เมื่อเปิดแล้ว ก็เตรียมพร้อม เตรียมตัวของคุณที่จะสอบ ที่จะประเมินในโอกาสต่อไป
คุณจะต้องมาเรียนรู้ก่อนว่า ต่อไปคุณจะถูกประเมินอะไรบ้าง มาตรฐานการประเมินนั้นเป็นอย่างไร ตัวชี้วัดนั้นยากง่ายแค่ไหน คุณจะได้มีเวลาเตรียมพร้อม ดิฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องดีซะด้วยซ้ำ ที่จะฟรีซตรงนั้นไว้ 3 เดือน แต่น้องๆ อาจจะไม่เข้าใจ เพราะบางคนอาจจะยังไม่เคยอบรมระบบแท่งเลย บางคนอาจจะเคยอบรมครั้งเดียว รู้บ้างไม่รู้บ้าง ก็ไม่สามารถที่จะวิเคราะห์ความถูกต้องได้ชัดเจน แต่เราเชื่อว่าในที่สุดคนท้องถิ่นต้องดีกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะแต่เดิมเราถูกมองว่าเราเป็นคนชั้นสอง เป็นข้าราชการชั้นสอง เพราะว่าอะไรเราก็ต้องรอ ก.พ. ณ วันนี้เราไม่ต้องรอแล้ว เรามี ก.ของเราเอง คือ ก.ถ. สามารถพิจารณาสิทธิประโยชน์ให้คุณได้ในทุกๆ เรื่อง แล้วถ้าคนท้องถิ่นหันกลับมามองอดีต แล้วเทียบกับปัจจุบัน และอนาคตที่จะเกิด ดิฉันว่าเขาพึงพอใจในระบบแท่งที่จะเกิดขึ้น
เราทำงานทุกวันนี้ ที่เราคิดก็คือบริการประชาชน
ถ้าเขาสามารถนำแนวทางที่เป็นระบบแท่งไปสู่กระบวนการพัฒนาตนเองและพัฒนาองค์กรแล้ว
เชื่อว่าประเทศชาติของเราซึ่งมีท้องถิ่นเป็นพื้นฐาน การพัฒนาก็จะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว
อยากจะนำเรียนไปยังพี่น้องท้องถิ่นนะคะ ดิฉัน เลื่อมใส ใจแจ้ง ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิมีหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานท้องถิ่นโดยตรง ขอเรียนน้องๆ ว่า คณะกรรมการ ก.ถ.ทุกท่านได้พิจารณาทุกเรื่องอย่างรอบคอบแล้ว ว่าประโยชน์สุดท้ายที่น้องๆ ได้รับมันจะตกกับประชาชนแน่นอน ถ้าน้องๆ นำประโยชน์ที่เราคิดเตรียมแก้ไขเป็นระบบแท่งไปประเมิน ไปพัฒนาตนเอง เพราะเราทำงานทุกวันนี้ ตัวสุดท้ายที่เราคิดก็คือบริการประชาชน ถ้าเขาสามารถนำแนวทางที่เป็นระบบแท่งไปสู่กระบวนการพัฒนาตนเองและพัฒนาองค์กรแล้ว เชื่อว่าประเทศชาติของเราซึ่งมีท้องถิ่นเป็นพื้นฐาน การพัฒนาก็จะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว
ก็อยากจะฝากว่า ใครที่ยังไม่สบายใจกับระบบแท่งอยู่
ให้กลับไปพิจารณาและก็ช่วยกันคิดว่า เราคงไม่ได้อะไรอย่างรวดเร็วในระยะเวลาที่เปลี่ยนผ่าน
แต่มันจะได้ในอนาคต ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ ความยั่งยืนก็จะเกิดกับคนท้องถิ่น ความก้าวหน้าก็จะเกิดกับคนท้องถิ่น
ตอนเราไปดูงานประเทศญี่ปุ่นมา มองว่าทำไมญี่ปุ่นเขาเจริญ เราก็จะพบว่า ที่ญี่ปุ่นเจริญ เพราะท้องถิ่นเจริญ เพราะฉะนั้นเราก็อยากจะฝากน้องๆ ว่าใครที่ยังไม่สบายใจกับระบบแท่งอยู่ ให้กลับไปพิจารณาและก็ช่วยกันคิดว่า เราคงไม่ได้อะไรอย่างรวดเร็วในระยะเวลาที่เปลี่ยนผ่าน แต่มันจะได้ในอนาคต ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ ความยั่งยืนก็จะเกิดกับคนท้องถิ่น ความก้าวหน้าก็จะเกิดกับคนท้องถิ่น ในฐานะที่ดิฉันเป็นอดีตปลัดเทศบาลนครหาดใหญ่ซึ่งคิดว่าเป็นเทศบาลที่มีงบประมาณมาก ดูแลคนเยอะ แล้วในระยะเวลาเกษียณมา 9 ปี ดิฉันก็อยู่ในการทำงานแวดวงของท้องถิ่นมาโดยตลอด ก็พร้อมที่จะช่วยน้องๆ ทุกคน มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่คิดว่ายังไม่เข้าใจอยู่ ก็สามารถโทร.หา หรือปรึกษากับดิฉันได้ ดิฉันพร้อมที่จะให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษากับทุกคนในแวดวงท้องถิ่น
ที่มา: นิตยสารผู้นำท้องถิ่น ฉบับที่ 175 2559