วิธีแก้ความง่วง โดยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า |
วิธีแก้ความง่วง
ขณะที่พระมหาโมคคัลลานะซึ่งออกบวชพร้อมพระสารีบุตรยังเป็นพระโสดาบันอยู่ หลังจากที่บวชได้ ๗ วัน ท่านมุ่งมั่นว่าจะต้องเป็นพระอรหันต์ให้ได้ จึงมุมานะเจริญกรรมฐานอยู่ที่หมู่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ อย่างหามรุ่งหามค่ำ ไม่หลับไม่นอน แต่ในที่สุดท่านก็เหน็ดเหนื่อยเกิดความโงกง่วงเข้าครอบงำ จนถึงกับนั่งสัปหงก พระพุทธองค์ทรงตรวจรู้ด้วยพระญาณ จึงทรงทำปาฏิหาริย์ให้เห็นปรากฏ ประหนึ่งว่าเสด็จประทับอยู่ตรงหน้า และทรงแสดงอุบายสำหรับระงับความง่วงตามลำดับ ดังนี้:-
๑. โมคคัลลานะ เมื่อเธอมีสัญญาอย่างใดแล้ว เกิดความง่วงขึ้น เธอจงทำไว้ในใจซึ่งสัญญาอย่างนั้นให้มาก จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
๒. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรตรึกตรองถึงธรรมที่ได้เรียนมาแล้ว ได้ฟังมาแล้วให้มาก จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
๓. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรสาธยายธรรมที่ได้เรียนได้ฟังมาแล้วให้มากจะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
๔. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรยอนช่วงหูทั้งสองข้าง และลูบตัวด้วยฝ่ายมือจะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
๕. ถ้ายังละไม่ได้ เธอจงลุกขึ้นแล้วลูบนัยน์ตา ลูบหน้าด้วยน้ำเหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาว จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
๖. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรทำไว้ในใจถึงอาโลกสัญญา ถือ กำหนดความสว่างไว้ในใจเหมือนกัน ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำใจให้เปิด ให้สว่าง จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
๗. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรเดินจงกรมสำรวมอินทรีย์ มีจิตใจไม่คิดไปภายนอก จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
๘. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรสำเร็จสีหไสยาสน์ นอนตะแคงขวา ซ้อนเท้าให้เลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ หมายใจว่าจะลุกขึ้นเป็นนิตย์ เมื่อตื่นแล้วควรรีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า เราจะไม่ประกอบความสุขในการนอนและการเคลิ้มหลับอีกจะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
พระพุทธองค์ ตรัสสอนอุบายเพื่อบรรเทาความง่วงโดยลำดับจนที่สุดถ้ายังไม่หายง่วงก็ให้นอน แต่ให้นอนอย่างมีสติ
เมื่อปรานอุบายแก้ง่วงดังนี้แล้วได้ประทานพระโอวาทอีก ๓ ข้อ คือ:-
๑. โมคคัลลานะ เธอจงทำไว้ในใจว่า เราจะไม่ชูงวง คือ ความถือตัวว่าเราเป็นนั่น เป็นนี่ เข้าไปสู่สกุล เพราะถ้าภิกษุถือตัวเข้าไปสู่สกุลด้วยคิดว่าเขาจะต้องต้อนรับเราอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าคนในสกุลเขามีการงานมาก ก็จะเกิดอิดหนาระอาใจ ถ้าเขาไม่ใส่ใจต้องรับ เธอก็จะเก้อเขินคิดไปในทางต่าง ๆ เกิดความฟุ้งซ่านไม่สำรวม จิตก็จะห่างจากสมาธิ
๒. โมคคัลลานะ เธอจงทำไว้ในใจว่า เราจักไม่พูดคำอันเป็นเหตุเถียงกัน เพราะถ้าเถียงกันก็จะต้องพูดมาก และผิดใจกัน เป็นเหตุให้ฟุ้งซ่านไม่สำรวม และจิตก็จะห่างจากสมาธิ
๓. โมคคัลลานะ ตถาคตไม่สรรเสริญการคลุกคลีด้วยประการทั้งปวง แต่ก็ไม่ตำหนิการคลุกคลีไปทุกอย่าง คือ เราไม่สรรเสริญการคลุกคลีกับหมู่ชน ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต แต่เราสรรเสริญการคลุกคลีด้วยเสนาสนะ อันสงบสงัดปราศจากเสียงอื้ออึง ควรแก่การหลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัยลำดับนั้น พระมหาโมคคัลลานะ ได้กราบทูลถามถึงข้อปฏิบัติอันเป็นธรรมชักนำไปสู่การสิ้นตัณหา เกษมจากโยคะคือกิเลสเครื่องประกอบให้จิตติดอยู่พระพุทธองค์ ตรัสสอนในเรื่องธาตุกรรมฐาน โดยใจความว่า “ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เมื่อได้สดับว่าธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ก็ควรกำหนดธรรมเหล่านั้น ในยามเมื่อเสวยเวทนา อันเป็นสุขหรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง และให้พิจารณาดังปัญญา อันประกอบด้วยความหน่าย ความดับ และความไม่ยึดมั่น จิตก็จะพ้นจากอาสวกิเลส เป็นผู้รู้ว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว” พระมหาโมคคัลลานะ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านเป็นกำลังสำคัญของพระศาสนา ช่วยแบ่งเบาภารกิจ และยังพุทธดำริต่าง ๆ ให้สำเร็จด้วยดี เพราะท่านมีฤทธิ์มีอานุภาพยิ่งกว่าพระสาวกรูปอื่น ๆ จนได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดา แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง พระอัครสาวกเบื้องซ้าย โดยทรงยกย่องให้เป็นอัครสาวกคู่กับพระสารีบุตรว่า:-
“พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา เปรียบเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิดบุตร พระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย เปรียบเสมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดมาแล้ว พระสารีบุตร ย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระโมคคัลลานะ ย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องสูงขึ้นไป”
นอกจากนี้ พระมหาโมคคัลลานะ ยังเป็นผู้มีความสามารถในการนวกรรม คือ งานก่อสร้าง พระบรมศาสดาเคยทรงมอบหมายให้ท่านรับหน้าที่ นวกัมมาธิฏฐายี คือ ผู้ควบคุมดูแลการก่อสร้างวิหารบุพพาราม ที่เมืองสาวัตถี ซึ่งนางวิสาขาบริจาคทรัพย์สร้างถวายอีกด้วย
ภาพและเนื้อหาอ้างอิงจาก; ทรูปลูกปัญญา
http://www.sobkroo.com/detail_room_main5.php?nid=10638