"บรรหาร"ถึงแก่อนิจกรรม ปิดตำนาน"มังกรสุพรรณ"
เว็บมาสเตอร์ |
„จากกรณีที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเข้ารับการรักษาอาการหอบหืดกำเริบ ที่ รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ตั้งแต่เมื่อเช้าวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. มีรายงานว่า นายบรรหาร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของไทย ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้วด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา 04.42 น. ที่ผ่านมา ในวัย 83 ปี 8 เดือน โดยทางญาติจะมีการเคลื่อนศพไปวัดเทพศิรินทร์ในวันเดียวกัน ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า นพ.ประสิทธิ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล จะเป็นผู้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หมายกำหนดการงานศพ นายบรรหาร ศิลปอาชา ตั้งบำเพ็ญกุศลที่ศาลา 14 (สุวรรณวณิชกิจ) วัดเทพศิรินทร์ เวลา 17.00 น. พิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เวลา19.00 น. ในวันที่ 23 เม.ย. พระพิธีธรรม สวดพระอภิธรรม เป็นเวลา 3 คืน (23-25 เม.ย.) หลังจากนั้น สวดพระอภิธรรม อีก 7 คืน (26 เม.ย-2 พ.ค.) ในเวลา 19.00 น. สำหรับประวัติส่วนตัวของ นายบรรหาร ศิลปอาชา โดยสังเขปนั้น เว็บไซต์สารานุกรมเสรี "วิกิพีเดีย" ระบุว่า เกิดเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2475 ที่ จ.สุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 6 คน ของ นายเซ่งกิม และ นางสายเอ็ง แซ่เบ๊ เดิมมีชื่อว่า นายเต็กเซียง แซ่เบ๊ สมรสกับ คุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา มีบุตร-ธิดา รวม 3 คน คือ นายวราวุธ ศิลปอาชา น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา และ น.ส.ปาริชาติ ศิลปอาชา นายบรรหาร จบการศึกษาชั้นปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อ พ.ศ. 2529 และศึกษาต่อปริญญาโทนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน นายบรรหาร เข้าสู่วงการเมืองจากการชักชวนของ นายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ตั้งแต่มีการก่อตั้งพรรคชาติไทยเมื่อ พ.ศ. 2517 โดยได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรี 11 สมัย และเคยได้รับตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญๆมากมาย อาทิ เป็น รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ รมว.กระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็น รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม รมว.กระทรวงมหาดไทย และ รมว.กระทรวงการคลัง ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็น รมว.กระทรวงคมนาคม ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร รวมถึงได้ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ของประเทศไทย เมื่อเดือน ก.ค. 2538 จากนั้น ในปี 2539 นายบรรหาร ได้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจโจมตี ทำให้ นายบรรหาร ตัดสินใจยุบสภาในวันที่ 27 ก.ย. 2539 สำหรับ นายบรรหาร มีสมญานามมากมาย จากลักษณะเด่นหลายประการ เช่น มีฐานเสียงหนาแน่นอย่างที่สุดในจังหวัดสุพรรณบุรี มีสถานะเป็นเจ้าถิ่นจนได้สมญาว่า "มังกรสุพรรณ" หรือ "มังกรการเมือง" และเนื่องจากมีลักษณะคล้าย "เติ้งเสี่ยวผิง" อดีตผู้นำจีน สื่อมวลชนจึงนิยมเรียกนายบรรหารสั้น ๆ ว่า "เติ้ง" หรือ "เติ้งเสี่ยวหาร".“ ที่มา http://www.dailynews.co.th/politics/393362 |