นักวิจัย มข.ชี้ 'ยางนายางนามีค่าดั่งทองคำ' ขายได้ทุกส่วน วิจัยเมล็ดเพิ่มพลังเพศ
ต้นยางนา ที่หลายคนไม่เคยมองเห็นค่ามากไปกว่าเอาลูกมาหมุนเล่นเพลินๆ เอาไม้มาทำอาคารบ้านเรือน เอาน้ำมันมายาเรือ...แต่วันนี้ยางนามีค่ามากกว่าทองไปซะแล้ว เมื่อนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น พบสารพัดสรรพคุณจากทุกส่วนของต้นยางนา แถมเอามาทำเครื่องสำอาง ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
นิภาพร นาโสก นักวิจัยภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยถึงผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากยางนา มีที่มาจากการสังเกตการเจาะเอาน้ำมันต้นยางนาสามารถฟื้นตัว สมานแผลรอยเจาะได้เร็ว ต้นยางน่าจะมีสารสำคัญอะไรบางอย่างอยู่ภายใน จึงได้เริ่มทำวิจัยเมื่อ 7 ปีที่แล้วด้วยทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จนกลางปีที่แล้ว จึงได้ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกเป็นสบู่จากใบยางนา เพราะใบมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่อสิว มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เชื้อรา จากนั้นเซรั่มจากใบและดอก ครีมพอกหน้า เจลแต้มสิว เจลล้างหน้าตามมา นอกจากนั้น การวิจัยยังพบว่าต้นยางมีประโยชน์มากกว่าที่คนไทยเคยรู้จักกันมา ตั้งแต่สามารถเพาะเห็ดได้ เนื่องจากธรรมชาติยางนาเอื้อต่อการเกิดเห็ดอยู่แล้ว แต่จะให้ดี ก่อนเริ่มปลูกนำเชื้อเห็ดราคาสูง ตระกูลไมคอร์โรซา เช่น เห็ดเผาะ เห็ดโคนควาย เห็ดไข่ไก่ ผสมกับดินรอง พื้น เมื่อต้นยางอายุได้ 3 ปี จะเริ่มเกิดเห็ด และสามารถเก็บได้ทุกปีตลอดอายุยางนา จะได้เห็ดเฉลี่ยปีละ 5 กก.ต่อยางนา 1 ต้น.
ขณะเดียวกัน ยังสามารถเริ่มเก็บใบขายให้เราได้ในราคา กก.ละ 60 บาท ดอกยางนาจะออกเฉลี่ยต้นละ 4 กก.ต่อปี ขายได้ กก.ละ 50 บาท เพราะมีผู้รับซื้อนำไปทำเครื่องสำอางประทินผิวได้หลายรูปแบบ ส่วนเมล็ดใน 1 ต้น สามารถนำไปเพาะกล้ายางเฉลี่ยปีละ 200 ต้น ขายได้ต้นละ 10 บาท และจากการวิจัยเบื้องต้นนิภาพร ยังพบว่าในเมล็ดยางนายังมีสารบางตัวที่มีฤทธิ์เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ รักษาโรคบางชนิดได้อีกด้วย ส่วนต้นให้น้ำมันมาก ในต้นอายุ 25 ปีขึ้นไป 1 ต้นให้น้ำมันเฉลี่ย 500 มล. สามารถนำมากลั่นเป็นไบโอดีเซล ผสมกับไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชอัตรา 1:1 ใช้แทนดีเซลในเครื่องยนต์ได้ กิ่ง ใบแห้ง แต่ละปีจะมีเฉลี่ยต้นละ 1 ตัน สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มในครัวเรือน ไบโอซาร์ ถ่านอัดแท่ง เชื้อเพลิงชีวมวล ผลิตเป็นไฟฟ้าชุมชน ส่วนยางนานอกจากสรรพคุณทางยามากมายแล้ว สารสกัดจากยางนา 1 กก. สามารถขายให้บริษัทผลิตเครื่อง สำอาง ที่ได้ราคาสูงถึง กก.ละ 30,000 บาทอีกด้วย.
ที่มา http://www.thairath.co.th/content/593887
โพสที่
http://www.khonkaenlink.info/home/news/1515.html
Link: คลิ๊กที่นี่