พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 3 พ.ศ. 2562
โหลดไปอ่านตรงนี้
หรือ
https://drive.google.com/file/d/17Y_BUiK_0F4UUGpMNnUaEDpyWWMa7_wX/view?usp=sharing
พระราชบัญญัติ
ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา
พ.ศ. ๒๕๔๒
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒
เป็นปีที่ ๕๔ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ และมาตรา ๔๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๔๒”
มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑
(๒) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑ พ.ศ. ๒๕๒๓
(๓) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๔
มาตรา ๔ บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ ประกาศ หรือคำสั่งใดที่ได้กำหนดเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกเมืองพัทยาหรือปลัดเมืองพัทยาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ ประกาศ หรือคำสั่งนั้น อ้างถึงประธานสภาเมืองพัทยาหรือนายกเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ ในพระราชบัญญัตินี้
“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกสภาเมืองพัทยา
“ข้อบัญญัติ” หมายความว่า ข้อบัญญัติเมืองพัทยา
“ผู้ว่าราชการจังหวัด” หมายความว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
การจัดตั้งเมืองพัทยา
มาตรา ๗ ให้จัดตั้งเมืองพัทยาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอาณาเขตตามเขตเมืองพัทยาที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ให้เมืองพัทยามีฐานะเป็นนิติบุคคล
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตเมืองพัทยาให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
หมวด ๒
การบริหารเมืองพัทยา
มาตรา ๘ การบริหารเมืองพัทยาประกอบด้วย
(๑) สภาเมืองพัทยา
(๒) นายกเมืองพัทยา
ส่วนที่ ๑
สภาเมืองพัทยา
มาตรา ๙ สภาเมืองพัทยาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนยี่สิบสี่คน ซึ่งเลือกตั้งโดยราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเมืองพัทยา
ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใดและยังมิได้มีการเลือกตั้งสมาชิกขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สภาเมืองพัทยาประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่
ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับแก่กรณีที่ได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเพราะเหตุที่มีผู้ได้รับเลือกตั้งไม่ครบจำนวน ถ้าในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้นยังได้ไม่ครบจำนวนอีก ให้ถือว่าสภาเมืองพัทยานั้นประกอบด้วยจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่จนกว่าจะครบอายุของสภาเมืองพัทยา เว้นแต่จะมีจำนวนสมาชิกไม่ถึงสองในสามของจำนวนตามวรรคหนึ่ง[๒]
มาตรา ๑๐[๓] ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกและผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
มาตรา ๑๑[๔] (ยกเลิก)
มาตรา ๑๒[๕] (ยกเลิก)
มาตรา ๑๓[๖] (ยกเลิก)
มาตรา ๑๔[๗] (ยกเลิก)
มาตรา ๑๕ อายุของสภาเมืองพัทยามีกำหนดคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
สมาชิกภาพของสมาชิกเริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง
มาตรา ๑๖ ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมสภาเมืองพัทยาด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตตามความเห็นของข้าพเจ้าโดยบริสุทธิ์ใจ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม”
มาตรา ๑๗ สมาชิกเป็นผู้แทนของประชาชนในเขตเมืองพัทยา และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ
มาตรา ๑๘[๘] (ยกเลิก)
มาตรา ๑๙ สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง เมื่อ
(๑) ถึงคราวออกตามอายุของสภาเมืองพัทยาหรือมีการยุบสภาเมืองพัทยา
(๒) ตาย
(๓) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อประธานสภาเมืองพัทยา
(๔)[๙] กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๔๙ วรรคสาม
(๕)[๑๐] ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐
(๖) ขาดประชุมสภาเมืองพัทยาสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
(๗) สภาเมืองพัทยามีมติให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะมีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียหรือก่อความไม่สงบเรียบร้อยแก่เมืองพัทยา หรือกระทำการอันเสื่อมเสียประโยชน์ของสภาเมืองพัทยา โดยมีสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอให้สภาเมืองพัทยาพิจารณา และมติดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ ทั้งนี้ ให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงนับแต่วันที่สภาเมืองพัทยามีมติ
(๘) ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเมืองพัทยาได้ลงคะแนนเสียงให้พ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพของสมาชิกผู้ใดสิ้นสุดลงตาม (๔) (๕) หรือ (๖) หรือเมื่อได้รับแจ้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้ใดสิ้นสุดลงตาม (๕) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสอบสวนและวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยหรือได้รับแจ้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี แม้ว่าสมาชิกผู้นั้นจะได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วไม่ว่าด้วยเหตุใด เว้นแต่เพราะเหตุตาย หรือพ้นจากตำแหน่งไปแล้วเกินสองปี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง[๑๑]
ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงตาม (๔) (๕) หรือ (๖) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศคำวินิจฉัยให้ทราบทั่วกัน ไม่ว่าผู้นั้นจะได้พ้นจากตำแหน่งไปก่อนแล้วหรือไม่ก็ตาม โดยในคำวินิจฉัยนั้นให้ระบุเหตุที่ทำให้พ้นจากตำแหน่งไว้ และให้สมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่มีเหตุตาม (๔) (๕) หรือ (๖) แต่ไม่กระทบต่อการดำเนินงานและการรับค่าตอบแทนที่ได้กระทำไปก่อนวันที่มีการประกาศคำวินิจฉัย ถ้าในขณะที่ประกาศคำวินิจฉัยดังกล่าวผู้นั้นกำลังดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นอันเป็นผลจากการเลือกตั้งต่างวาระหรือต่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกัน ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งที่กำลังดำรงอยู่ด้วย และในกรณีที่เป็นผลให้ถูกห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้ถือว่าวันที่ประกาศคำวินิจฉัยเป็นวันเริ่มนับระยะเวลาต้องห้ามดังกล่าว ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัดตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด[๑๒]
ในกรณีที่สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงตาม (๘) พร้อมกันทั้งหมด ให้ถือว่าเป็นการยุบสภาเมืองพัทยา[๑๓]
มาตรา ๒๐[๑๔] (ยกเลิก)
มาตรา ๒๑[๑๕] ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกว่างลงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานเสนอรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งยุบสภาเมืองพัทยาก็ได้
มาตรา ๒๒ ให้สภาเมืองพัทยาเลือกสมาชิกเป็นประธานสภาเมืองพัทยาคนหนึ่งและรองประธานสภาเมืองพัทยาจำนวนสองคน แล้วเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง
การเลือกประธานสภาเมืองพัทยาและรองประธานสภาเมืองพัทยาให้กระทำในการประชุมสภาเมืองพัทยาครั้งแรกภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป
มาตรา ๒๓[๑๖] ประธานสภาเมืองพัทยาและรองประธานสภาเมืองพัทยา อยู่ในตำแหน่งจนครบอายุของสภาเมืองพัทยา หรือมีการยุบสภาเมืองพัทยา หรือถือว่ามีการยุบสภาเมืองพัทยาตามมาตรา ๑๙ วรรคสี่
มาตรา ๒๔ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๒๓ ประธานสภาเมืองพัทยาและรองประธานสภาเมืองพัทยาพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) พ้นจากสมาชิกภาพแห่งสภาเมืองพัทยา
(๒) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
มาตรา ๒๕ ในกรณีที่ตำแหน่งประธานสภาเมืองพัทยาหรือรองประธานสภาเมืองพัทยาว่างลง เพราะเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา ๒๔ ให้สภาเมืองพัทยาเลือกสมาชิกขึ้นเพื่อดำรงตำแหน่งที่ว่างแทนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง
มาตรา ๒๖ ประธานสภาเมืองพัทยามีหน้าที่ดำเนินการประชุมและดำเนินกิจการอื่นให้เป็นไปตามข้อบังคับเมืองพัทยา
รองประธานสภาเมืองพัทยามีหน้าที่ช่วยประธานสภาเมืองพัทยาปฏิบัติการตามหน้าที่และกระทำกิจการตามที่ประธานสภาเมืองพัทยามอบหมาย
ในกรณีที่ไม่มีประธานสภาเมืองพัทยาหรือประธานสภาเมืองพัทยาไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ ให้รองประธานสภาเมืองพัทยาคนที่หนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน และในกรณีที่ไม่มีประธานสภาเมืองพัทยาและรองประธานสภาเมืองพัทยาคนที่หนึ่ง หรือประธานสภาเมืองพัทยาและรองประธานสภาเมืองพัทยาคนที่หนึ่งไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ ให้รองประธานสภาเมืองพัทยาคนที่สองปฏิบัติหน้าที่แทน
ในการประชุมครั้งใดถ้าไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุม ให้สมาชิกเลือกกันเองเพื่อทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมสำหรับการประชุมครั้งนั้น
ในการประชุมครั้งใด ถ้าผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมสั่งปิดประชุมก่อนหมดระเบียบวาระการประชุม แต่สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของสมาชิกเท่าที่มีอยู่เสนอให้เปิดประชุม ให้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระการประชุมนั้นต่อไป จนกว่าสมาชิกจะมีมติให้ปิดประชุม และให้นำความในวรรคสามและวรรคสี่มาใช้บังคับกับกรณีดังกล่าว
มาตรา ๒๗ ประธานสภาเมืองพัทยาอาจแต่งตั้งเลขานุการประธานสภาเมืองพัทยาและผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาเมืองพัทยาไม่เกินจำนวนรองประธานสภาเมืองพัทยา เพื่อช่วยเหลือกิจการตามที่ได้รับมอบหมาย
บุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขานุการประธานสภาเมืองพัทยาหรือผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาเมืองพัทยา ต้องมิใช่รองนายกเมืองพัทยา เลขานุการนายกเมืองพัทยา ผู้ช่วยเลขานุการนายกเมืองพัทยา ประธานที่ปรึกษาหรือที่ปรึกษา
เลขานุการประธานสภาเมืองพัทยา และผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาเมืองพัทยาพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ประธานสภาเมืองพัทยาพ้นจากตำแหน่ง
(๒) ประธานสภาเมืองพัทยามีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง
(๓) ตาย
(๔) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อประธานสภาเมืองพัทยา
(๕) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
มาตรา ๒๘ ให้ปลัดเมืองพัทยาทำหน้าที่เลขานุการสภาเมืองพัทยา มีหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการและการจัดประชุมและงานอื่นใดตามที่สภาเมืองพัทยามอบหมาย
มาตรา ๒๙ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเรียกประชุมสภาเมืองพัทยาครั้งแรก
ในปีปฏิทินหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญของสภาเมืองพัทยาไม่น้อยกว่าสองสมัย แต่ต้องไม่เกินสี่สมัย จำนวนสมัยประชุมสามัญและวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีแต่ละสมัยให้สภาเมืองพัทยากำหนด แต่สภาเมืองพัทยาจะกำหนดจำนวนสมัยประชุมและวันเริ่มสมัยประชุมสำหรับปีแรกเป็นการเฉพาะก็ได้
สมัยประชุมสามัญให้มีกำหนดสามสิบวัน แต่ถ้ามีกรณีจำเป็นสภาเมืองพัทยาจะมีมติขยายสมัยประชุมสามัญออกไปอีกก็ได้แต่ต้องไม่เกินสามสิบวัน
มาตรา ๓๐ เมื่อมีกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งเมืองพัทยา นายกเมืองพัทยาหรือสมาชิกไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ อาจยื่นคำร้องต่อประธานสภาเมืองพัทยาขอให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญได้ และให้ประธานสภาเมืองพัทยาเรียกประชุมสมัยวิสามัญโดยกำหนดวันประชุมภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง
สมัยประชุมวิสามัญให้มีกำหนดสิบห้าวัน
มาตรา ๓๑ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๙ ให้ประธานสภาเมืองพัทยาเรียกประชุมสภาเมืองพัทยาตามสมัยประชุม
ในกรณีที่ไม่มีประธานสภาเมืองพัทยาหรือประธานสภาเมืองพัทยาไม่เรียกประชุมตามกฎหมาย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้เรียกประชุมและนัดให้สมาชิกมาประชุมในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้เรียกประชุมสภาเมืองพัทยาได้ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเรียกประชุมสภาเมืองพัทยา ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง
(๒) กรณีที่ไม่มีการประชุมภายในระยะเวลาเจ็ดวันนับแต่วันเริ่มกำหนดให้มีการประชุมตามมาตรา ๒๙ หรือมาตรา ๓๐ แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้เรียกประชุมสภาเมืองพัทยา ประธานสภาเมืองพัทยา และรองประธานสภาเมืองพัทยา จะทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมมิได้และให้สมาชิกเลือกกันเองเพื่อทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมสำหรับการประชุมครั้งนั้น
มาตรา ๓๒ การประชุมสภาเมืองพัทยา ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม
นายกเมืองพัทยา รองนายกเมืองพัทยา หรือผู้ซึ่งนายกเมืองพัทยามอบหมายมีสิทธิเข้าประชุมสภาเมืองพัทยา และมีสิทธิแถลงข้อเท็จจริงตลอดจนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับงานในหน้าที่ของตนต่อที่ประชุม แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
มาตรา ๓๓ การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษาให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ เว้นแต่ที่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในพระราชบัญญัตินี้
สมาชิกคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๓๔ สภาเมืองพัทยาจะกระทำการใดอันมิใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยาไม่ได้
มาตรา ๓๕ การประชุมสภาเมืองพัทยาต้องกระทำโดยเปิดเผยตามลักษณะที่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสภาเมืองพัทยา แต่ถ้านายกเมืองพัทยาหรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ร้องขอให้ประชุมลับ ก็ให้ประชุมลับ
มาตรา ๓๖ ในที่ประชุมสภาเมืองพัทยา สมาชิกมีสิทธิตั้งกระทู้ถามนายกเมืองพัทยาในเรื่องที่เกี่ยวกับงานในหน้าที่ของนายกเมืองพัทยา
มาตรา ๓๗ สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมสภาเมืองพัทยาเพื่อให้นายกเมืองพัทยาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในปัญหาอันเกี่ยวกับการบริหารราชการเมืองพัทยาโดยไม่มีการลงมติ
ญัตติตามวรรคหนึ่งให้ยื่นต่อประธานสภาเมืองพัทยา และให้ประธานสภาเมืองพัทยากำหนดวันสำหรับการอภิปรายทั่วไป ซึ่งต้องไม่เร็วกว่าห้าวันและไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับญัตติ แล้วแจ้งให้นายกเมืองพัทยาทราบ
มาตรา ๓๘ สภาเมืองพัทยามีอำนาจเลือกสมาชิกตั้งเป็นคณะกรรมการสามัญของสภาเมืองพัทยา และมีอำนาจเลือกบุคคลผู้เป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกตั้งเป็นคณะกรรมการวิสามัญของสภาเมืองพัทยาเพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาเมืองพัทยาแล้วรายงานต่อสภาเมืองพัทยา
ในการตั้งคณะกรรมการวิสามัญตามวรรคหนึ่ง นายกเมืองพัทยามีสิทธิเสนอชื่อบุคคลผู้เป็นหรือมิได้เป็นสมาชิก เพื่อให้สภาเมืองพัทยาแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการวิสามัญได้ไม่เกินหนึ่งในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด
คณะกรรมการที่สภาเมืองพัทยาตั้งขึ้นตามวรรคหนึ่ง จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้
มาตรา ๓๙ สภาเมืองพัทยามีอำนาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับจรรยาบรรณของสมาชิก ข้อบังคับการประชุมเกี่ยวกับการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภาเมืองพัทยา รองประธานสภาเมืองพัทยา คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการของสภาเมืองพัทยา วิธีการประชุม การเสนอและพิจารณาร่างข้อบัญญัติ การเสนอญัตติ การปรึกษา การอภิปราย การลงมติ การตั้งและตอบกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย และกิจการอื่นอันเป็นหน้าที่ของสภาเมืองพัทยา
มาตรา ๔๐ เงินประจำตำแหน่ง เงินค่าเบี้ยประชุม และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานสภาเมืองพัทยา รองประธานสภาเมืองพัทยา สมาชิก เลขานุการประธานสภาเมืองพัทยา ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาเมืองพัทยา กรรมการสามัญหรือกรรมการวิสามัญที่สภาเมืองพัทยาตั้งขึ้น หรืออนุกรรมการที่คณะกรรมการตั้งขึ้น ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
ส่วนที่ ๒
นายกเมืองพัทยา
มาตรา ๔๑ ให้เมืองพัทยามีนายกเมืองพัทยาคนหนึ่งซึ่งเลือกตั้งโดยราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเมืองพัทยา
การเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาให้กระทำโดยวิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ
หลักเกณฑ์และวิธีการสมัครรับเลือกตั้งและการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
มาตรา ๔๒[๑๗] ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาและผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเมืองพัทยา ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเมืองพัทยา นอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่งแล้ว ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง
(๒) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
มาตรา ๔๓[๑๘] (ยกเลิก)
มาตรา ๔๔[๑๙] (ยกเลิก)
มาตรา ๔๕[๒๐] นายกเมืองพัทยามีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
ในกรณีที่นายกเมืองพัทยาดำรงตำแหน่งไม่ครบระยะเวลาสี่ปีก็ให้ถือว่าเป็นหนึ่งวาระ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่งสองวาระติดต่อกันแล้วจะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลาสี่ปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง
มาตรา ๔๖ ให้มีการมอบหมายงานในหน้าที่นายกเมืองพัทยาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้มีการประกาศผลการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา
นายกเมืองพัทยาอาจแต่งตั้งรองนายกเมืองพัทยาจำนวนไม่เกินสี่คนซึ่งมิใช่สมาชิกเป็นผู้ช่วยเหลือในการบริหารราชการของเมืองพัทยาตามที่นายกเมืองพัทยามอบหมาย
มาตรา ๔๗[๒๑] รองนายกเมืองพัทยาต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๒ เว้นแต่ในส่วนที่เกี่ยวกับอายุให้นับถึงวันแต่งตั้ง
มาตรา ๔๘ นายกเมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดนโยบายและรับผิดชอบในการบริหารราชการของเมืองพัทยาให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบัญญัติ และนโยบาย
(๒) สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการของเมืองพัทยา
(๓) แต่งตั้งและถอดถอนรองนายกเมืองพัทยา เลขานุการนายกเมืองพัทยา ผู้ช่วยเลขานุการนายกเมืองพัทยา ประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษาหรือคณะที่ปรึกษา
(๔) วางระเบียบเพื่อให้งานของเมืองพัทยาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
(๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย หรือตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกเมืองพัทยาหรือนายกเทศมนตรีหรือคณะเทศมนตรี
มาตรา ๔๙[๒๒] นายกเมืองพัทยา รองนายกเมืองพัทยา เลขานุการนายกเมืองพัทยา ผู้ช่วยเลขานุการนายกเมืองพัทยา ประธานที่ปรึกษา และที่ปรึกษา ต้องไม่กระทำการ ดังต่อไปนี้
(๑) ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือการพาณิชย์ของเมืองพัทยาหรือบริษัทซึ่งเมืองพัทยาถือหุ้น หรือตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น เว้นแต่ตำแหน่งที่ต้องดำรงตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินหรือตามนโยบายของรัฐบาล
(๒) รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ เป็นพิเศษจากส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือการพาณิชย์ของเมืองพัทยาหรือบริษัทซึ่งเมืองพัทยาถือหุ้น นอกเหนือไปจากที่ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือการพาณิชย์หรือบริษัท ปฏิบัติกับบุคคลในธุรกิจการงานตามปกติ
(๓) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาหรือกิจการที่กระทำหรือจะกระทำกับหรือให้แก่เมืองพัทยา หรือมีส่วนได้เสียในสัญญาหรือกิจการที่กระทำหรือจะกระทำกับหรือให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น โดยมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นการต่างตอบแทนหรือเอื้อประโยชน์ส่วนตนระหว่างกัน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เป็นคู่สัญญากับเมืองพัทยาอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่ในส่วนที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทมหาชนจำกัดอยู่ก่อนได้รับการเลือกตั้ง
บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งได้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน และมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งรับเงินตอบแทนค่าเบี้ยประชุมหรือเงินอื่นใดเนื่องจากการดำรงตำแหน่งกรรมาธิการของรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือสภาเมืองพัทยาหรือสภาท้องถิ่นอื่น หรือกรรมการที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นโดยตำแหน่ง
ให้นำความใน (๒) และ (๓) มาใช้บังคับแก่สมาชิกด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๕๐ นายกเมืองพัทยาพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ถึงคราวออกตามวาระ
(๒) ตาย
(๓) เมื่อมีการยุบสภาเมืองพัทยาตามมาตรา ๗๖
(๔) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
(๕)[๒๓] ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๒
(๖) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๔๙
(๗)[๒๔] รัฐมนตรีพิจารณาสอบสวนและสั่งให้ออกจากตำแหน่งตามมาตรา ๙๖/๑
(๘) ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเมืองพัทยาได้ลงคะแนนเสียงให้พ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นนายกเมืองพัทยาผู้ใดสิ้นสุดลงตาม (๕) หรือ (๖) หรือเมื่อได้รับแจ้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าความเป็นนายกเมืองพัทยาผู้ใดสิ้นสุดลงตาม (๕) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสอบสวนและวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยหรือได้รับแจ้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี แม้ว่านายกเมืองพัทยาผู้นั้นจะได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วไม่ว่าด้วยเหตุใด เว้นแต่เพราะเหตุตาย หรือพ้นจากตำแหน่งไปแล้วเกินสองปี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง[๒๕]
ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดวินิจฉัยว่านายกเมืองพัทยาพ้นจากตำแหน่งตาม (๕) หรือ (๖) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศคำวินิจฉัยให้ทราบทั่วกัน ไม่ว่าผู้นั้นจะได้พ้นจากตำแหน่งไปก่อนแล้วหรือไม่ก็ตาม โดยในคำวินิจฉัยนั้นให้ระบุเหตุที่ทำให้พ้นจากตำแหน่งไว้ด้วย และให้นายกเมืองพัทยาผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่มีเหตุตาม (๕) หรือ (๖) แต่ไม่กระทบต่อการดำเนินงานและการรับค่าตอบแทนที่ได้กระทำไปก่อนวันที่มีการประกาศคำวินิจฉัย ถ้าในขณะที่ประกาศคำวินิจฉัยดังกล่าวผู้นั้นกำลังดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นอันเป็นผลจากการเลือกตั้งต่างวาระหรือต่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกัน ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งที่กำลังดำรงอยู่ด้วย และในกรณีที่เป็นผลให้ถูกห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้ถือว่าวันที่ประกาศคำวินิจฉัยเป็นวันเริ่มนับระยะเวลาต้องห้ามดังกล่าว ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัดตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด[๒๖]
ในระหว่างที่ไม่มีนายกเมืองพัทยา ให้ปลัดเมืองพัทยาปฏิบัติหน้าที่ของนายกเมืองพัทยาเท่าที่จำเป็นได้เป็นการชั่วคราวจนกว่านายกเมืองพัทยาซึ่งได้รับเลือกตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่[๒๗]
มาตรา ๕๑ รองนายกเมืองพัทยาพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) นายกเมืองพัทยาพ้นจากตำแหน่ง
(๒) นายกเมืองพัทยามีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง
(๓) ตาย
(๔) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อนายกเมืองพัทยา
(๕) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๗
(๖) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๔๙
ให้นำความในวรรคสองและวรรคสามของมาตรา ๕๐ มาใช้บังคับกับกรณีรองนายกเมืองพัทยาด้วยโดยอนุโลม[๒๘]
มาตรา ๕๒ นายกเมืองพัทยาอาจแต่งตั้งเลขานุการนายกเมืองพัทยาและผู้ช่วยเลขานุการนายกเมืองพัทยาไม่เกินจำนวนรองนายกเมืองพัทยา และอาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานที่ปรึกษาและที่ปรึกษาได้จำนวนรวมกันแล้วไม่เกินห้าคน เพื่อช่วยเหลือในการบริหารราชการเมืองพัทยาตามที่นายกเมืองพัทยามอบหมาย
บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการนายกเมืองพัทยา ผู้ช่วยเลขานุการนายกเมืองพัทยา ประธานที่ปรึกษา และที่ปรึกษา ต้องมิใช่สมาชิก และให้นำความในวรรคสองและวรรคสามของมาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๖) มาใช้บังคับแก่การพ้นจากตำแหน่งของบุคคลดังกล่าวด้วยโดยอนุโลม[๒๙]
มาตรา ๕๓ เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของนายกเมืองพัทยา รองนายกเมืองพัทยา เลขานุการนายกเมืองพัทยา ผู้ช่วยเลขานุการนายกเมืองพัทยา ประธานที่ปรึกษาหรือที่ปรึกษา ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
หมวด ๓
ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา
มาตรา ๕๔ ให้นายกเมืองพัทยาควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของเมืองพัทยาและเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเมืองพัทยาและลูกจ้างเมืองพัทยา
มาตรา ๕๕ เมืองพัทยาแบ่งส่วนราชการดังต่อไปนี้
(๑) สำนักปลัดเมืองพัทยา
(๒) ส่วนราชการอื่น ตามที่นายกเมืองพัทยาประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย
การกำหนดอำนาจหน้าที่ของสำนักปลัดเมืองพัทยา และส่วนราชการอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่นายกเมืองพัทยาประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย
มาตรา ๕๖ ให้มีปลัดเมืองพัทยาคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเมืองพัทยาและลูกจ้างเมืองพัทยารองจากนายกเมืองพัทยา และรับผิดชอบควบคุมดูแลราชการประจำของเมืองพัทยาให้เป็นไปตามนโยบาย และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือตามที่นายกเมืองพัทยามอบหมาย
การบริหารงานบุคคลของเมืองพัทยาให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
มาตรา ๕๗ ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ราชการเมืองพัทยาที่จะต้องอาศัยข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นมาปฏิบัติงานชั่วคราว นายกเมืองพัทยาอาจขอยืมตัวผู้นั้นมาช่วยปฏิบัติราชการของเมืองพัทยาเป็นการชั่วคราวโดยมีกำหนดเวลาก็ให้กระทำได้ แต่ต้องทำความตกลงกับหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นนั้นก่อน และเมื่อหมดความจำเป็นเมื่อใดให้รีบส่งตัวผู้นั้นคืนสังกัดเดิม
ให้ถือว่าข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ได้รับแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง มีอำนาจหน้าที่เป็นพนักงานเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ขาดจากสถานภาพเดิม และคงได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง แล้วแต่กรณี จากสังกัดเดิม
มาตรา ๕๘ อำนาจหน้าที่ในการสั่งหรือการปฏิบัติราชการของรองนายกเมืองพัทยา ให้เป็นไปตามที่นายกเมืองพัทยามอบหมาย
ในกรณีที่นายกเมืองพัทยาไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกเมืองพัทยาตามลำดับที่นายกเมืองพัทยาจัดไว้เป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีรองนายกเมืองพัทยาหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ปลัดเมืองพัทยาเป็นผู้รักษาราชการแทน
อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ หรือการปฏิบัติราชการที่นายกเมืองพัทยาจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ หรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ หรือคำสั่งนั้น หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นไม่ได้กำหนดในเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น นายกเมืองพัทยาอาจมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้รองนายกเมืองพัทยาเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนนายกเมืองพัทยาก็ได้ แต่ถ้ามอบให้ปลัดเมืองพัทยาหรือรองปลัดเมืองพัทยาปฏิบัติราชการแทน ให้ทำเป็นคำสั่งและประกาศให้ประชาชนทราบ
การปฏิบัติราชการแทนนายกเมืองพัทยาตามวรรคสาม ต้องกระทำภายใต้การกำกับดูแลและกรอบนโยบายที่นายกเมืองพัทยากำหนดไว้
มาตรา ๕๙ ในกรณีที่มีรองปลัดเมืองพัทยา อำนาจในการสั่งหรือการปฏิบัติราชการของรองปลัดเมืองพัทยา ให้เป็นไปตามที่ปลัดเมืองพัทยามอบหมาย
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งปลัดเมืองพัทยาหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองปลัดเมืองพัทยาเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองปลัดเมืองพัทยาหลายคนให้รองปลัดเมืองพัทยาผู้มีอาวุโสตามระเบียบแบบแผนของราชการเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองปลัดเมืองพัทยาหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้นายกเมืองพัทยาแต่งตั้งหัวหน้าส่วนราชการของเมืองพัทยาหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าเป็นผู้รักษาราชการแทน
อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ หรือการปฏิบัติราชการที่ปลัดเมืองพัทยาจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ หรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ หรือคำสั่งนั้น หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นไม่ได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น ปลัดเมืองพัทยาอาจมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้รองปลัดเมืองพัทยาปฏิบัติราชการแทนปลัดเมืองพัทยาก็ได้ แต่ถ้าจะมอบให้หัวหน้าส่วนราชการของเมืองพัทยาหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าปฏิบัติราชการแทน ให้ทำเป็นคำสั่งและประกาศให้ประชาชนทราบ
มาตรา ๖๐ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการของเมืองพัทยาหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ปลัดเมืองพัทยาแต่งตั้งพนักงานเมืองพัทยาคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทนได้ ทั้งนี้ ให้ทำเป็นคำสั่งและประกาศให้ประชาชนทราบ
อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ หรือการปฏิบัติราชการที่หัวหน้าส่วนราชการของเมืองพัทยาหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าจะพึงปฏิบัติ หรือดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ หรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ หรือคำสั่งนั้น หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นไม่ได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หัวหน้าส่วนราชการของเมืองพัทยาหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าอาจมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้พนักงานเมืองพัทยาคนใดคนหนึ่งปฏิบัติราชการแทนได้ แล้วแต่กรณี
มาตรา ๖๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้นายกเมืองพัทยา รองนายกเมืองพัทยา และพนักงานเมืองพัทยาเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
หมวด ๔
อำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยา
มาตรา ๖๒ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมาย เมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่ดำเนินการในเขตเมืองพัทยาในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การรักษาความสงบเรียบร้อย
(๒) การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
(๓) การคุ้มครองและดูแลรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
(๔) การวางผังเมืองและการควบคุมการก่อสร้าง
(๕) การจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม
(๖) การจัดการจราจร
(๖/๑)[๓๐] การส่งเสริมและสนับสนุนสถานีตำรวจ และหน่วยงานอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ตาม (๑) และ (๖)
(๗) การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
(๘) การกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล และการบำบัดน้ำเสีย
(๙) การจัดให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา
(๑๐) การจัดให้มีการควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ และที่จอดรถ
(๑๑) การควบคุมอนามัยและความปลอดภัยในร้านจำหน่ายอาหาร โรงมหรสพ และสถานบริการอื่น
(๑๒) การควบคุมและส่งเสริมกิจการท่องเที่ยว
(๑๓) การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
(๑๔) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นของเทศบาลนครหรือของเมืองพัทยา
มาตรา ๖๓ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยาหรือข้อบัญญัติ ให้นายกเมืองพัทยา รองนายกเมืองพัทยา ปลัดเมืองพัทยา รองปลัดเมืองพัทยา หัวหน้าส่วนราชการของเมืองพัทยา หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า และพนักงานเมืองพัทยา ซึ่งนายกเมืองพัทยาแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่สำหรับปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว และให้มีฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่งให้มีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) เข้าไปในอาคารหรือบริเวณที่ตั้งอาคารที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อบัญญัติ ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของสถานที่นั้น
(๒) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใดมาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือสั่งให้แสดงเอกสารหรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อบัญญัติ
(๓) ยึดหรืออายัดเอกสาร หลักฐาน ยานพาหนะ หรือสิ่งใด ๆ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี
(๔) จับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย หรือข้อบัญญัติเพื่อดำเนินคดี
หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่นายกเมืองพัทยากำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย
ในกรณีที่มีการกระทำความผิดตามกฎหมาย หรือข้อบัญญัติตามวรรคหนึ่ง นายกเมืองพัทยา ปลัดเมืองพัทยา หรือหัวหน้าส่วนราชการของเมืองพัทยา หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า แล้วแต่กรณี เห็นว่าผู้ต้องหาไม่ควรได้รับโทษจำคุก ให้มีอำนาจเปรียบเทียบ และเมื่อผู้กระทำความผิดชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเปรียบเทียบ ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่ยอมเปรียบเทียบ หรือเมื่อยอมแล้วแต่ไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลา ให้พนักงานเมืองพัทยาซึ่งนายกเมืองพัทยาแต่งตั้งมีอำนาจในการสอบสวนและมีฐานะเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อทำการสอบสวนเสร็จให้ส่งรายงานการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อดำเนินคดีในศาลต่อไป โดยให้ถือว่ารายงานการสอบสวนนั้นเป็นสำนวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
เงินค่าปรับให้เป็นรายได้ของเมืองพัทยา
มาตรา ๖๔ เมืองพัทยาอาจให้บริการแก่บุคคล หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น โดยมีค่าตอบแทนได้ เมื่อบริการนั้นโดยปกติเป็นบริการที่มีค่าตอบแทน
การประกอบการพาณิชย์ของเมืองพัทยาให้ตราเป็นข้อบัญญัติ
การประกอบกิจการใดที่เมืองพัทยามีรายได้หรือผลพลอยได้อันเกิดจากการกระทำตามอำนาจหน้าที่จะไม่ตราเป็นข้อบัญญัติก็ได้
มาตรา ๖๕ เมืองพัทยาอาจดำเนินกิจการนอกเขตเมืองพัทยา เมื่อการนั้นจำเป็นต้องทำและเป็นการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่อยู่ภายในเขตเมืองพัทยา หรือเป็นประโยชน์แก่เมืองพัทยา
การดำเนินกิจการตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาเมืองพัทยา และได้รับความยินยอมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะเข้าไปดำเนินการ
ในกรณีที่ไม่ได้รับความยินยอมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามวรรคสอง ให้นายกเมืองพัทยารายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อพิจารณา ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าการดำเนินกิจการนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นส่วนรวม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการให้นายกเมืองพัทยาและผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมาประชุม เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน
มาตรา ๖๖ ในกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดดำเนินกิจการใดที่อยู่นอกเขตเมืองพัทยาอันมีลักษณะที่จะมีผลกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อย หรือความปลอดภัยของประชาชนในเขตเมืองพัทยา ให้นายกเมืองพัทยาเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณาปัญหาดังกล่าวร่วมกัน
เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับข้อเสนอของนายกเมืองพัทยาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งภายในสิบห้าวันนับแต่ได้รับข้อเสนอและถ้าคณะกรรมการได้พิจารณาและมีมติอย่างใดแล้ว ให้เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อแจ้งให้เมืองพัทยาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติของคณะกรรมการต่อไป ในกรณีที่หาข้อยุติไม่ได้ ให้รัฐมนตรีเป็นผู้ชี้ขาด
คณะกรรมการตามวรรคสอง ให้ประกอบด้วยผู้แทนเมืองพัทยา ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และบุคคลอื่นตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควร
มาตรา ๖๗ ในกรณีที่หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ดำเนิน กิจการใดที่อยู่นอกเขตเมืองพัทยาอันมีลักษณะที่จะมีผลกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยหรือความปลอดภัยของประชาชนในเขตเมืองพัทยา ให้นายกเมืองพัทยารายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อแจ้งให้หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาและหาข้อยุติร่วมกัน
มาตรา ๖๘ ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการให้บริการแก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและลดภาระทางการเงินของเมืองพัทยา เมืองพัทยาอาจมอบให้บุคคลอื่นหรือเข้าร่วมกับบุคคลอื่นกระทำกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยาได้ ในกรณีเช่นนั้น ผู้กระทำกิจการมีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือค่าตอบแทน ที่เกี่ยวข้องกับกิจการนั้นแทนเมืองพัทยาตามอัตราที่ได้ทำความตกลงกับเมืองพัทยาได้
การกระทำกิจการตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาเมืองพัทยา และรัฐมนตรีก่อน
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกระทำกิจการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติ ทั้งนี้ ข้อบัญญัติดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะที่อาจเป็นผลให้ประชาชนผู้ใช้หรือรับบริการต้องเสียค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายอื่นสูงขึ้น
มาตรา ๖๙ เมืองพัทยาอาจร่วมกับหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น จัดตั้งองค์การขึ้นเรียกว่า สหการ มีฐานะเป็นนิติบุคคล เพื่อทำกิจการใดอันอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยาได้
การจัดตั้งสหการจะทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยระบุชื่อ อำนาจหน้าที่ และวิธีการบริการและการดำเนินงานไว้ และเมื่อจะยุบเลิกสหการ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยระบุวิธีจัดการทรัพย์สินไว้ด้วย
หมวด ๕
ข้อบัญญัติเมืองพัทยา
มาตรา ๗๐ เมืองพัทยามีอำนาจตราข้อบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) การปฏิบัติให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยา
(๒) เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้เมืองพัทยามีอำนาจตราข้อบัญญัติได้
(๓) การให้บริการโดยมีค่าตอบแทนตามมาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง
(๔) การพาณิชย์ตามมาตรา ๖๔ วรรคสอง
(๕) การคลัง การงบประมาณ การเงิน ทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน การจ้าง และการพัสดุ
ในข้อบัญญัติตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดโทษจำคุกหรือโทษปรับหรือทั้งจำและปรับผู้ละเมิดข้อบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่จะกำหนดโทษจำคุกเกินหกเดือนและโทษปรับเกินหนึ่งหมื่นบาทไม่ได้
ข้อบัญญัติตาม (๕) ต้องมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานกลางที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
ข้อบัญญัติตามวรรคหนึ่งจะตราขึ้นได้ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาเมืองพัทยา
มาตรา ๗๑ ร่างข้อบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดยนายกเมืองพัทยา สมาชิก หรือราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเมืองพัทยาตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น
ในกรณีที่สมาชิกเป็นผู้เสนอร่างข้อบัญญัติ ต้องมีสมาชิกลงนามรับรองไม่น้อยกว่าสองคน
ร่างข้อบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน สมาชิกจะเสนอได้ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกเมืองพัทยา
มาตรา ๗๒ ร่างข้อบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน หมายความถึงร่างข้อบัญญัติว่าด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) การจัดเก็บ ยกเลิก ลด เปลี่ยนแปลง แก้ไข ผ่อน หรือวางระเบียบ การบังคับอันเกี่ยวกับภาษีอากร
(๒) การเก็บรักษาเงิน การจ่ายเงิน หรือการโอนงบประมาณของเมืองพัทยา
(๓) การกู้เงิน การค้ำประกัน หรือการใช้เงินกู้
(๔) การคลัง การงบประมาณ การเงิน ทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน การจ้าง และการพัสดุ
ในกรณีเป็นที่สงสัยว่าร่างข้อบัญญัติใดเป็นร่างข้อบัญญัติเกี่ยวกับการเงินที่จะต้องมีคำรับรองของนายกเมืองพัทยา ให้ประธานสภาเมืองพัทยาเป็นผู้วินิจฉัย
มาตรา ๗๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๗๖ ร่างข้อบัญญัติที่สภาเมืองพัทยาไม่เห็นชอบด้วยให้เป็นอันตกไป
ร่างข้อบัญญัติที่ตกไปตามวรรคหนึ่ง จะเสนอใหม่ได้เมื่อพ้นหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ร่างข้อบัญญัตินั้นตกไป
มาตรา ๗๔ งบประมาณรายจ่ายประจำปีของเมืองพัทยาต้องตราเป็นข้อบัญญัติ ในกรณีที่ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของปีงบประมาณก่อนนั้นไปพลางก่อน
ในกรณีที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ตั้งไว้ไม่พอสำหรับการใช้จ่าย หรือมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งรายจ่ายขึ้นใหม่ระหว่างปีงบประมาณ ให้ตราเป็นข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
มาตรา ๗๕ ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีและร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม สภาเมืองพัทยาจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สภาเมืองพัทยาได้รับร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้น
ถ้าสภาเมืองพัทยาพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าสภาเมืองพัทยาได้ให้ความเห็นชอบในร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้น และให้นายกเมืองพัทยาลงนามใช้บังคับเป็นข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายต่อไป
ในการพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของสภาเมืองพัทยา การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกมีส่วนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้
มาตรา ๗๖ ในกรณีที่สภาเมืองพัทยาไม่เห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้สภาเมืองพัทยาตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยกรรมการจำนวนสิบห้าคน เพื่อพิจารณาหาข้อยุติความขัดแย้งในสาระสำคัญที่บัญญัติไว้ในร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้น
คณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งสภาเมืองพัทยาแต่งตั้งจำนวนเจ็ดคนและบุคคลซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกซึ่งนายกเมืองพัทยาเสนอจำนวนเจ็ดคน และให้กรรมการทั้งสิบสี่คนร่วมกันปรึกษาและเสนอบุคคลซึ่งมิได้เป็นกรรมการและมิได้เป็นสมาชิกคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าวภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่กรรมการครบจำนวนสิบสี่คน
ในกรณีที่ไม่สามารถเสนอบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นประธานได้ภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งบุคคลซึ่งมิได้เป็นกรรมการและมิได้เป็นสมาชิกขึ้นทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการดังกล่าว
ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งพิจารณาและรายงานผลการพิจารณาต่อสภาเมืองพัทยาให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่แต่งตั้งประธานคณะกรรมการ ในกรณีที่คณะกรรมการไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ประธานคณะกรรมการรวบรวมผลการพิจารณา แล้ววินิจฉัยชี้ขาดและรายงานต่อสภาเมืองพัทยาโดยเร็ว
ถ้าสภาเมืองพัทยายังไม่เห็นชอบด้วยกับผลการพิจารณาของคณะกรรมการ หรือผลการวินิจฉัยของประธานคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี ให้ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้นเป็นอันตกไปและให้รัฐมนตรีสั่งยุบสภาเมืองพัทยา
มาตรา ๗๗ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่สภาเมืองพัทยามีมติเห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติใดให้ประธานสภาเมืองพัทยาส่งร่างข้อบัญญัตินั้นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา
ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องพิจารณาร่างข้อบัญญัติตามวรรคหนึ่งให้เสร็จและส่งคืนประธานสภาเมืองพัทยาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบัญญัตินั้น ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติดังกล่าว
ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งให้นายกเมืองพัทยาลงนามใช้บังคับเป็นข้อบัญญัติต่อไป แต่ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เห็นชอบด้วยให้ส่งร่างข้อบัญญัตินั้นพร้อมด้วยเหตุผลที่ไม่เห็นชอบด้วยคืนไปยังสภาเมืองพัทยาเพื่อพิจารณาใหม่ ถ้าสภาเมืองพัทยามีมติยืนยันตามร่างข้อบัญญัติเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ ให้ประธานสภาเมืองพัทยาแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบและส่งร่างข้อบัญญัตินั้นให้นายกเมืองพัทยาลงนามใช้บังคับเป็นข้อบัญญัติต่อไป
มาตรา ๗๘ ข้อบัญญัตินั้นให้ประกาศไว้โดยเปิดเผย ณ ศาลาว่าการเมืองพัทยาและให้มีผลใช้บังคับได้ ดังนี้
(๑) ถ้าเป็นข้อบัญญัติว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไปหรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัตินั้น
(๒) ถ้าเป็นข้อบัญญัติอื่น ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นเจ็ดวันนับแต่วันประกาศ เว้นแต่ข้อบัญญัตินั้นจะกำหนดไว้เป็นประการอื่น แต่ต้องไม่เร็วกว่าวันถัดจากวันประกาศ
ให้ปลัดเมืองพัทยาเป็นผู้รับผิดชอบในการประกาศข้อบัญญัติตามวรรคหนึ่ง และให้ระบุวันที่ที่ประกาศไว้ด้วย
มาตรา ๗๙ ให้เมืองพัทยาจัดให้มีสำเนาข้อบัญญัติไว้ ณ ศาลาว่าการเมืองพัทยาเพื่อให้ประชาชนตรวจดูได้ และหากประชาชนประสงค์จะได้สำเนาข้อบัญญัติใด ๆ ให้เมืองพัทยาจัดให้โดยคิดค่าตอบแทนได้ไม่เกินค่าใช้จ่ายตามที่จ่ายจริงในการดำเนินการดังกล่าว
หมวด ๖
รายได้และรายจ่าย
มาตรา ๘๐ ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย และอากรการฆ่าสัตว์และค่าธรรมเนียมรวมถึงผลประโยชน์อื่นอันเกิดจากการฆ่าสัตว์ในเขตเมืองพัทยา ให้เมืองพัทยาจัดเก็บเป็นรายได้ของเมืองพัทยาตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
มาตรา ๘๑ กิจการใดที่มีกฎหมายมอบหน้าที่ให้เทศบาลหรือนายกเทศมนตรีเป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการหรือกำหนดให้แบ่งรายได้ให้เทศบาล ถ้ากิจการนั้นอยู่ในเขตเมืองพัทยา ให้เมืองพัทยาหรือนายกเมืองพัทยาเป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการหรือให้เมืองพัทยาได้รับส่วนแบ่งรายได้ตามกฎหมายนั้นและบรรดาค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต และค่าปรับเนื่องในกิจการเช่นว่านั้น ให้เป็นรายได้ของเมืองพัทยา
มาตรา ๘๒ เมืองพัทยามีอำนาจออกข้อบัญญัติเก็บภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละสิบของภาษีอากรและค่าธรรมเนียมประเภทใดประเภทหนึ่งหรือทุกประเภท ดังต่อไปนี้
(๑) ภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากร ซึ่งสถานประกอบการอยู่ในเขตเมืองพัทยา
(๒) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุราตามกฎหมายว่าด้วยสุรา ซึ่งร้านขายสุราอยู่ในเขตเมืองพัทยา
(๓) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในการเล่นการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน ซึ่งสถานที่เล่นการพนันอยู่ในเขตเมืองพัทยา
ในการเสียภาษีอากรและค่าธรรมเนียมตามมาตรานี้เศษของหนึ่งบาทให้ปัดทิ้ง
ภาษีอากรและค่าธรรมเนียมตามมาตรานี้ ให้ถือเป็นภาษีอากรและค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
มาตรา ๘๓ เมืองพัทยามีอำนาจออกข้อบัญญัติเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มโดยให้กำหนดเป็นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นจากอัตราที่เรียกเก็บตามประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่ประมวลรัษฎากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละศูนย์ ให้เมืองพัทยาเก็บอัตราร้อยละศูนย์
(๒) ในกรณีที่ประมวลรัษฎากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราอื่น ให้เมืองพัทยาเก็บหนึ่งในเก้าของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บเพิ่มขึ้นตามมาตรานี้ ให้ถือเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร
มาตรา ๘๔ เมื่อเมืองพัทยาออกข้อบัญญัติตามมาตรา ๘๒ (๑) หรือมาตรา ๘๓ แล้ว ให้เป็นหน้าที่ของกรมสรรพากรที่จะจัดเก็บภาษีดังกล่าวให้เมืองพัทยา
มาตรา ๘๕ เมืองพัทยาจะมอบให้กระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าตอบแทน หรือรายได้อื่นใด เพื่อเมืองพัทยาก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายไม่เกินร้อยละหนึ่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว ให้กระทรวง ทบวง กรม นั้น ส่งมอบให้แก่เมืองพัทยา
มาตรา ๘๖ ในการปฏิบัติตามมาตรา ๘๐ มาตรา ๘๑ หรือข้อบัญญัติที่ออกตามมาตรา ๘๒ (๒) หรือ (๓) ให้เมืองพัทยามีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการ และให้เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับแต่งตั้งมีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
ในการบังคับเรียกเก็บภาษีค้างตามมาตรา ๘๐ มาตรา ๘๑ มาตรา ๘๒ (๒) หรือ (๓) หรือมาตรา ๘๓ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากนายกเมืองพัทยา ให้ปลัดเมืองพัทยามีอำนาจสั่งยึดและสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรโดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง แต่ถ้าจะขายทอดตลาดต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย
วิธีการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามวรรคสอง ให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลม
เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น ให้หักค่าธรรมเนียมกับค่าใช้จ่ายในการยึดและขายและเงินภาษีอากรค้าง ถ้ามีเงินเหลือให้คืนให้แก่เจ้าของทรัพย์สิน
มาตรา ๘๗ ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์และล้อเลื่อนที่จัดเก็บได้ในจังหวัดชลบุรี ให้จัดสรรให้แก่เมืองพัทยาโดยให้ถือว่าเมืองพัทยาเป็นเทศบาล ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการนั้น
มาตรา ๘๘ ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้จัดสรรหรือแบ่งรายได้อันเกิดจากภาษีอากร ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต หรือค่าปรับใด ๆ ให้แก่เทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ให้เมืองพัทยาได้รับส่วนแบ่งรายได้ดังกล่าวด้วย เช่นเดียวกับเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น และเพื่อประโยชน์ในการนี้ ให้ถือว่าเมืองพัทยาเป็นเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น แล้วแต่กรณี
มาตรา ๘๙ เมืองพัทยาอาจมีรายได้อื่นดังต่อไปนี้
(๑) ภาษีอากร ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต หรือค่าปรับใด ตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้
(๒) รายได้จากทรัพย์สินของเมืองพัทยา
(๓) รายได้จากสาธารณูปโภคของเมืองพัทยา
(๔) รายได้จากการพาณิชย์ของเมืองพัทยา
(๕) รายได้จากการจำหน่ายพันธบัตรเมื่อได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังร่วมกัน และตราเป็นข้อบัญญัติแล้ว
(๖) เงินกู้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทย และตราเป็นข้อบัญญัติแล้ว ถ้าเป็นเงินกู้จากต่างประเทศต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังด้วย
(๗) เงินอุดหนุนหรือรายได้อื่นตามที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐจัดสรรให้
(๘) เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ องค์การต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ ถ้าเป็นกรณีที่เงินช่วยเหลือดังกล่าวมีเงื่อนไขหรือข้อผูกพันใด ๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังร่วมกันก่อน ถ้ากรณีไม่มีเงื่อนไขหรือข้อผูกพันใด ๆ ให้รายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบ
(๙) เงินช่วยเหลือและค่าตอบแทน
(๑๐) เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นที่มีผู้อุทิศให้
(๑๑) รายได้อื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นของเมืองพัทยา
มาตรา ๙๐ การตั้งงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนเมืองพัทยา ให้รัฐบาลตั้งให้เมืองพัทยาโดยตรง ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความเหมาะสมของปริมาณงาน และรายได้ของรัฐที่ได้รับจากเมืองพัทยาด้วย
ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอื่น เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดให้แก่เมืองพัทยา รัฐมนตรีจะออกระเบียบเพื่อกำหนดการใช้จ่ายเงินดังกล่าวก็ได้
มาตรา ๙๑ เมืองพัทยาอาจมีรายจ่ายดังต่อไปนี้
(๑) เงินเดือน
(๒) ค่าจ้าง
(๓) ค่าตอบแทน
(๔) ค่าใช้สอย
(๕) ค่าวัสดุ
(๖) ค่าครุภัณฑ์
(๗) ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง
(๘) เงินอุดหนุน
(๙) รายจ่ายตามข้อผูกพัน
(๑๐) รายจ่ายอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือข้อบัญญัติกำหนด
มาตรา ๙๒ การจ่ายเงินของเมืองพัทยา ให้เป็นไปตามที่ได้อนุญาตไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
การจ่ายเงินที่มิได้อนุญาตไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อเป็นกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาประโยชน์ของเมืองพัทยา หรือการป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย ในกรณีเช่นนั้น นายกเมืองพัทยาจะสั่งจ่ายเงินจากเงินสะสมไปก่อนก็ได้ แต่ต้องรายงานให้สภาเมืองพัทยาทราบในการประชุมครั้งแรกหลังจากการสั่งจ่ายเงินและให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้เงินสะสมต่อไป ทั้งนี้ การจ่ายเงินสะสมและการตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้เงินสะสมให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
งบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้เพื่อการใด จะโอนไปเพื่อใช้จ่ายสำหรับการอื่นไม่ได้ เว้นแต่จะมีข้อบัญญัติให้โอนได้
การจ่ายเงินของเมืองพัทยาตามวรรคหนึ่ง หรือการนำเงินของกิจการที่เมืองพัทยาเป็นเจ้าของหรือเป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นในกิจการนั้น ไปใช้จ่ายเพื่อการฝึกอบรมหรือดูงานในต่างประเทศของนายกเมืองพัทยา รองนายกเมืองพัทยา เลขานุการนายกเมืองพัทยา ผู้ช่วยเลขานุการเมืองพัทยา ประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา ประธานสภาเมืองพัทยา รองประธานสภาเมืองพัทยา สมาชิก เลขานุการประธานสภาเมืองพัทยา หรือผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาเมืองพัทยา จะกระทำมิได้[๓๑]
มาตรา ๙๓ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ ให้นายกเมืองพัทยาประกาศรายการรับจ่ายเงินประจำปีงบประมาณที่สิ้นสุดลงพร้อมทั้งรายการผูกพันที่เบิกตัดปีงบประมาณไว้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สิ้นสุดปีงบประมาณ
ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบการรับเงิน การจ่ายเงิน การบัญชี การเงินและทรัพย์สินอื่น ๆ ของเมืองพัทยา และทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอนายกเมืองพัทยาเพื่อเสนอสภาเมืองพัทยาต่อไป
หมวด ๗
การกำกับดูแล
มาตรา ๙๔ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของเมืองพัทยา เพื่อการนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงหรือสั่งให้นายกเมืองพัทยาชี้แจงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของเมืองพัทยาได้
มาตรา ๙๕ บรรดาเรื่องที่เมืองพัทยาต้องเสนอไปยังรัฐมนตรีหรือกระทรวง ทบวง กรม ให้นายกเมืองพัทยารายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบด้วย ในการนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำความเห็นเสนอรัฐมนตรี หรือกระทรวง ทบวง กรม แล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการพิจารณาด้วยก็ได้
มาตรา ๙๖[๓๒] เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลตามมาตรา ๙๔ ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่า การปฏิบัติราชการของเมืองพัทยาเป็นไปในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เมืองพัทยา หรือเสียหายแก่ราชการ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการชี้แจง แนะนำ หรือตักเตือนผู้ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการดังกล่าว หรือในกรณีเห็นสมควรจะสั่งเพิกถอนการกระทำหรือให้ระงับการปฏิบัติของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไว้ก็ได้ และในกรณีที่สั่งเพิกถอนหรือระงับ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งที่ได้รับคำสั่งมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด และเมื่อรัฐมนตรีวินิจฉัยเป็นประการใดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามคำวินิจฉัยนั้น คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
เมื่อความปรากฏโดยมีหลักฐานตามสมควรต่อผู้ว่าราชการจังหวัดว่า นายกเมืองพัทยา รองนายกเมืองพัทยา ประธานสภาเมืองพัทยา หรือรองประธานสภาเมืองพัทยาผู้ใด จงใจทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่อันจะเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย หรือฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดที่สั่งการตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยพลัน และให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๙๖/๑[๓๓] เมื่อผลการสอบสวนตามมาตรา ๙๖ วรรคสอง ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามที่ถูกสอบสวน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานให้รัฐมนตรีพิจารณาและสั่งให้ผู้ถูกสอบสวนพ้นจากตำแหน่งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายงาน ไม่ว่าผู้นั้นจะได้พ้นจากตำแหน่งไปก่อนแล้วหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่เพราะเหตุตายหรือพ้นจากตำแหน่งไปแล้วเกินสองปี โดยในคำสั่งดังกล่าวให้ระบุเหตุที่ทำให้พ้นจากตำแหน่งไว้ และให้มีผลตั้งแต่วันที่รัฐมนตรีมีคำสั่ง แต่ไม่กระทบต่อการดำเนินงานและการรับค่าตอบแทนที่ได้กระทำไปก่อนวันที่มีคำสั่งนั้น ถ้าในขณะที่มีคำสั่งดังกล่าวผู้นั้นกำลังดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นอันเป็นผลจากการเลือกตั้งต่างวาระหรือต่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกัน ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งที่กำลังดำรงอยู่ด้วย และให้ถือว่าวันที่สั่งให้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวเป็นวันเริ่มนับระยะเวลาต้องห้ามการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง คำสั่งของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
มาตรา ๙๗ ในกรณีที่เมืองพัทยาดำเนินการนอกเขตเมืองพัทยาตามมาตรา ๖๕ และกิจการนั้นมีลักษณะที่อาจนำมาซึ่งความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนในเขตเมืองพัทยา หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อย หรือความปลอดภัยของประชาชนในเขตเมืองพัทยาหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจแนะนำให้ปรับปรุงแก้ไขหรือกระทำการใด ๆ ได้ตามสมควร ในกรณีที่เมืองพัทยาไม่ปฏิบัติตามและผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าไม่มีเหตุผลอันสมควร ผู้ว่าราชการจังหวัดจะออกคำสั่งระงับการดำเนินกิจการดังกล่าวก็ได้
มาตรา ๙๘ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในเขตเมืองพัทยาหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม ผู้ว่าราชการจังหวัดจะรายงานเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งยุบสภาเมืองพัทยาก็ได้
เมื่อมีกรณีตามวรรคหนึ่งหรือกรณีอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ รัฐมนตรีมีอำนาจยุบสภาเมืองพัทยา และให้แสดงเหตุผลไว้ในคำสั่งด้วย
มาตรา ๙๙ บรรดาอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาเห็นสมควร จะทำหนังสือมอบอำนาจให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติแทนก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้เมืองพัทยาทราบและให้รายงานกระทรวงมหาดไทยทราบด้วย
บทเฉพาะกาล
มาตรา ๑๐๐ ให้สมาชิกสภาเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง และให้เลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัตินี้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๑๐๑ ให้ปลัดเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่ง และให้มีการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ในระหว่างที่ไม่มีนายกเมืองพัทยาตามวรรคหนึ่ง ให้ปลัดเมืองพัทยาซึ่งได้รับแต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกเมืองพัทยาเท่าที่จำเป็นได้เป็นการชั่วคราวจนกว่านายกเมืองพัทยาซึ่งได้รับเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่
ในกรณีที่ไม่มีปลัดเมืองพัทยาตามวรรคสอง ให้หัวหน้าสำนักปลัดเมืองพัทยา ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกเมืองพัทยาเท่าที่จำเป็นได้เป็นการชั่วคราว จนกว่านายกเมืองพัทยาที่ได้รับเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่
มาตรา ๑๐๒ ในระหว่างที่ไม่มีกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้นำกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลมาใช้บังคับกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยาหรือนายกเมืองพัทยาเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ให้ยกเว้นไม่ต้องเรียกเก็บเงินประกันการสมัคร
ในการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา ให้ถือเขตเมืองพัทยาเป็นเขตเลือกตั้ง
ในกรณีที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยา และนายกเมืองพัทยาในคราวเดียวกัน ให้ใช้หน่วยเลือกตั้ง ที่เลือกตั้ง เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจคะแนน เจ้าหน้าที่คะแนน และบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันก็ได้
ใบสมัครและบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยา หรือนายกเมืองพัทยาให้เป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยเรียบร้อย กระทรวงมหาดไทยอาจออกระเบียบกำหนดวิธีปฏิบัติในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยาหรือนายกเมืองพัทยาเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลได้
มาตรา ๑๐๓ ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ และเงินงบประมาณของเมืองพัทยาที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ไปเป็นของเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๐๔ ให้บรรดาพนักงานเมืองพัทยาและลูกจ้างเมืองพัทยาซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นพนักงานเมืองพัทยาหรือลูกจ้างเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัตินี้
ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของพนักงานเมืองพัทยาและลูกจ้างเมืองพัทยา ให้การบริหารงานบุคคลของพนักงานเมืองพัทยาและลูกจ้างเมืองพัทยาเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑
มาตรา ๑๐๕ ให้บรรดาข้อบัญญัติ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศของเมืองพัทยาและมติของเมืองพัทยาซึ่งออกโดยสภาเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑ และใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นข้อบัญญัติ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และมติของเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๐๖ บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศในเรื่องใดที่ออกตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑ หรือที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือที่ใช้บังคับกับเมืองพัทยาหรือกิจการของเมืองพัทยา และใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศในเรื่องนั้น ตามพระราชบัญญัตินี้ขึ้นใช้บังคับแทน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น แต่เนื่องจากการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเมืองพัทยาในปัจจุบันซึ่งมีปลัดเมืองพัทยาทำหน้าที่บริหารกิจการเมืองพัทยาโดยสัญญาจ้างยังไม่สอดคล้องและเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ประกอบกับสมควรจัดระเบียบการปกครองเมืองพัทยาใหม่ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ และเพื่อให้เมืองพัทยามีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การปกครอง การบริหาร การบริหารงานบุคคล การเงิน และการคลัง สอดคล้องกับหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๒[๓๔]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยามีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาวะในปัจจุบัน เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน ทั้งสิทธิของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สมควรเปิดกว้างให้เป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒[๓๕]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๒๘ ให้นายกเมืองพัทยา ประธานสภาเมืองพัทยา รองประธานสภาเมืองพัทยา และสมาชิกสภาเมืองพัทยา ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๘๕/๒๕๕๗ เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑/๒๕๕๗ เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๖/๒๕๖๐ เรื่อง การแต่งตั้งนายกเมืองพัทยา ลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๕/๒๕๖๑ เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารราชการเมืองพัทยา ลงวันที่ ๒๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา หรือสมาชิกสภาเมืองพัทยา แล้วแต่กรณี โดยให้พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้ง หรือจนกว่าจะพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว
เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาหรือสมาชิกสภาเมืองพัทยาแล้ว ให้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามวรรคหนึ่ง เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับเมืองพัทยาเป็นอันยกเลิก
มาตรา ๒๙ บทบัญญัติมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ มิให้ใช้บังคับกับนายกเมืองพัทยาซึ่งดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๓๐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับจำนวนสมาชิกสภาเมืองพัทยา คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยา และผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเมืองพัทยา และผู้มีสิทธิเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเมืองพัทยาให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาเมืองพัทยา การพ้นจากตำแหน่งนายกเมืองพัทยา เลขานุการนายกเมืองพัทยา ผู้ช่วยเลขานุการนายกเมืองพัทยา ประธานที่ปรึกษา และที่ปรึกษา รวมทั้งการกระทำอันเป็นการต้องห้ามของนายกเมืองพัทยา รองนายกเมืองพัทยา เลขานุการนายกเมืองพัทยา ผู้ช่วยเลขานุการนายกเมืองพัทยา ประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา และสมาชิกเมืองพัทยา ตลอดจนอำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยาและการกำกับดูแลเมืองพัทยา เพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาเมืองพัทยา นายกเมืองพัทยา และผู้ทำหน้าที่ช่วยเหลือในการบริหารราชการของเมืองพัทยาที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ มีความซื่อสัตย์สุจริต สามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พิมพ์มาดา/เพิ่มเติม
๒๒ เมษายน ๒๕๖๒
พจนา/ตรวจ
๒๕ เมษายน ๒๕๖๒
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๑๒๐ ก/หน้า ๒๑/๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒
[๒] มาตรา ๙ วรรคสาม เพิ่มโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๓] มาตรา ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๔] มาตรา ๑๑ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๕] มาตรา ๑๒ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๖] มาตรา ๑๓ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๗] มาตรา ๑๔ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๘] มาตรา ๑๘ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๙] มาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๑๐] มาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง (๕) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๑๑] มาตรา ๑๙ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๑๒] มาตรา ๑๙ วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๑๓] มาตรา ๑๙ วรรคสี่ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๑๔] มาตรา ๒๐ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๑๕] มาตรา ๒๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๑๖] มาตรา ๒๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๑๗] มาตรา ๔๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๑๘] มาตรา ๔๓ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๑๙] มาตรา ๔๔ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๒๐] มาตรา ๔๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๒๑] มาตรา ๔๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๒๒] มาตรา ๔๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๒๓] มาตรา ๕๐ วรรคหนึ่ง (๕) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๒๔] มาตรา ๕๐ วรรคหนึ่ง (๗) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๒๕] มาตรา ๕๐ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๒๖] มาตรา ๕๐ วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๒๗] มาตรา ๕๐ วรรคสี่ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๒๘] มาตรา ๕๑ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๒๙] มาตรา ๕๒ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๓๐] มาตรา ๖๒ (๖/๑) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๓๑] มาตรา ๙๒ วรรคสี่ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๓๒] มาตรา ๙๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๓๓] มาตรา ๙๖/๑ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๓๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๘๕ ก/หน้า ๑๓/๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
[๓๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖/ตอนที่ ๕๐ ก/หน้า ๑๒๐/๑๖ เมษายน ๒๕๖๒
ความคิดเห็น